posttoday

เปิดทีโออาร์สำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ เม.ย.นี้ !! พร้อมเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

21 มกราคม 2563

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ฤกษ์เปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ หลังว่างเว้นมากว่า 13 ปี มั่นใจจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน คาดมีเงินลงทุนสะพัดขั้นต่ำ 1,500 ล้านบาท   ขณะที่พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เดินสายประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องหาข้อสรุป

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ฤกษ์เปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ หลังว่างเว้นมากว่า 13 ปี มั่นใจจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน คาดมีเงินลงทุนสะพัดขั้นต่ำ 1,500 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเดินสายประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องหาข้อสรุป

นายสราวุธ   แก้วตาทิพย์   อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงเตรียมประกาศเชิญชวนให้เอกชนผูู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือรอบที่ 23  ในช่วงเดือนเม.ย. นี้ หลังจากไม่ได้เปิดสำรวจมากว่า 13 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกแปลงสำรวจที่เหมาะสม  ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ในอ่าวไทย ในระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี)  เนื่องจากมีโอกาสพบปิโตเลียมในเชิงพาณิชย์มากกว่า

ส่วนพื้นที่บนบก จากแปลงสำรวจเดิมที่มีการคืนพื้นที่ ยังไม่สามารถเปิดให้สำรวจได้ทัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของสำนักงานที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งมีข้อบังคับที่เข้มงวดไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์อื่นในพื้นที่ดังกล่าวได้ยกเว้นการทำการเกษตรอย่างเดียว  และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการแก้ไขกฏระเบียบดังกล่าว

ทั้งนี้มั่นใจว่าการเปิดสำรวจปิโตรเลียมนี้จะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะที่ทันสมัยมากขึ้น   เฉลี่ยต้นทุนการขุดเจาะอยู่ที่หลุมละ 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ซึ่งในภาพรวมหากมีการเปิดสำรวจในทะเลอ่าวไทยได้สำเร็จ จะก่อให้เกิดการลงทุนในขั้นต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท หากมีการสำรวจพบจริงก็จะมีเงินลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

“ขณะนี้กำลังคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม  จากแปลงสำรวจที่เคยเปิดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2557 แบ่งเป็นอ่าวไทย 6 แปลง และบนบก 10 แปลง  เบื้องต้นน่าจะเปิดสำรวจพื้นที่อ่าวไทยได้ก่อน ส่วนบนบกต้องรอการแก้ไขกฏหมายสปก.ก่อน โดยกรอบระยะเวลา หลังจากประกาศเชิญชวนนักลงทุนเข้ามายื่นขอสิทธิสำรวจในเดือนเม.ย.แล้ว จะให้เวลาการจัดทำข้อเสนอและผลตอบแทนรัฐ  คาดจะใช้เวลาในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะแต่ละแปลงแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2563 และสามารถลงนามสัญญาได้ต้นปี 2564 ”นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ  กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น พร้อมเดินหน้าเจรจาในทุกระดับ โดยในส่วนของกรมเชื้อเพลิงจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกัน โดยยึดหลักที่จะไม่ทำให้ใครเสียอธิปไตย ต้องหาจุดที่ลงตัว  ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.)

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการจัดหาปิโตรเลียมในประเทศคิดเป็น 40 % ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณรวมอยู่ที่ 821,060 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน (ตัวเลขเดือนมกราคม-ธันวาคม 2562)  สามารถสร้างรายได้ค่าภาคหลวงและภาษี ปีละ 1.6 แสนล้านบาท