posttoday

รัฐรับลูกขยายเงินกู้ซอฟท์ลดภาษีกระตุ้นศก.ใต้

21 มกราคม 2563

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะหารือร่วม ครม.-เอกชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขยายวงเงินซอฟท์โลน 3 หมื่นล้าน และขยายเวลาลดภาษีจูงใจลงทุนเพิ่ม

“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะหารือร่วม ครม.-เอกชนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขยายวงเงินซอฟท์โลน 3 หมื่นล้าน และขยายเวลาลดภาษีจูงใจลงทุนเพิ่ม

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2562 การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน(ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) ระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับภาคเอกชนในพื้นที่ ซึ่ง ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลช่วยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญหลายมาตรการ ประกอบด้วย

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน(ซอฟท์โลนด์) ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จากวงเงินเดิมที่เคยได้รับอนุมัติตั้งแต่ปี 2549 จำนวน 25,000 ล้านบาท ขณะนี้ เหลืออยู่ 1,000 ล้านบาท โดยจะขอให้เพิ่มวงเงินเป็น 30,000 ล้านบาท พร้อมกันปรับเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการใหม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วย จากเดิมที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องประกอบการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งประเด็นนี้ ครม. ได้รับข้อเสนอของเอกชน และมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำรายละเอียดเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ เอกชนได้เสนอให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดโครงการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่2 ซึ่งเชื่อมพื้นที่อ.สุไหง-โกลกกับประเทศมาเลเซีย มูลค่า 4,000 ล้านบาท เป็นการร่วมกันลงทุนสัดส่วนเท่ากันระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งโครงการนี้ฝ่ายไทยได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อส่งแบบละรายละเอียดให้ทางมาเลเซียแล้วยังไม่มีการตอบรับ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศขอเจรจาเรื่องนี้กับทางมาเลเซียต่อไป

นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างการประชุมว่าการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐจะต้องใช้ยาแรงในการกระตุ้นคือการให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจการลงทุนได้เพียงพอ โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนหลักพันหรือหมื่นล้านบาทเพื่อให้เอกชนตัดสินใจเข้ามาลงทุน เช่น การขอ คืนภาษีได้เท่ากับจำนวนที่มีการลงทุน เช่นลงทุน 1,000 ล้านบาทก็ควรมีการให้สิทธิ์ในการหักค่าใช้จ่ายได้เท่าจำนวนที่มีการลงทุน 1,000 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่มีมาตรการและกฎหมายที่จะรองรับในลักษณะนี้โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการที่เหมาะสมและทำได้จริงกลับมาเสนออีกครั้ง

นายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนจากจีน ตลอดจน นักลงทุนจาก จ.สงขลา จ.สตูล เข้ามาลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เสียภาษีนิติบุคคลในอัตรา 3% ต่ำกว่าพื้นที่อื่นทั่วประเทศที่เสียในอัตรา 20% ทำให้สามารถลงทุนทางธุรกิจและได้ทุนคืนภายในไม่เกิน 5 ปี ภาคเอกชนจึงเสนอรัฐบาลพิจารณาขยายมาตรการเก็บ ภาษีนิติบุคคลในอัตรา 3% ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2563 ออกไปอีก 5 ปี พร้อมทั้งขอให้ขยายโครงการซอฟท์โลนดอกเบี้ย 1.5% ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2565 ออกไปอีก 5 ปีเพื่อให้นักลงทุนสามารถวางแผนในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน ขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ผังเมือง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากพื้นที่ที่เป็นสีม่วงอ่อนให้เป็นสีม่วงเข้ม เพื่อให้ขยายพื้นที่ สำหรับทำอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆได้ เพราะการลงทุนในปัจจุบันนี้ ครอบคลุมพื้นที่สีม่วงเข้มไปหมดแล้วทำให้ไม่จงใจนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงเสนอโครงการก่อสร้างท่าเรือ ขนาด 5,000 ตันกรอส ที่ปากแม่น้ำปัตตานี เพื่อ เป็นท่าเรือสำคัญสำหรับส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีการจัดทำงบประมาณศึกษาไว้แล้วจึงขอเร่งรัดให้ก่อสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปี ไม่เช่นนั้นเมืองต้นแบบมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนจะไม่ประสบความสำเร็จ

รัฐรับลูกขยายเงินกู้ซอฟท์ลดภาษีกระตุ้นศก.ใต้

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการยกระดับการบริหารจัดการด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด่านสุไหงโก-ลก ด่านบูเก๊ะตา ซึ่งในอนาคตจะเป็นด่านขนส่งสินค้าหลักเชื่อมไทย-มาเลเซีย และด่านตากใบ โดยเรื่องการปิด-เปิดด่าน ให้ทำเท่าที่จำเป็น ไม่ให้กระทบต่อการขนส่ง หรือสร้างความเดือดร้อนกับประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจทั้งในพื้นที่และระหว่างประเทศ เช่น ตลาดมาเลเซีย ซึ่งย้ำว่าต้องมีมาตรฐานสินค้าอย่างสม่ำเสมอ

รวมถึงเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ใน 4 ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำสุไหงโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา ลุ่มน้ำสายบุรี และลุ่มน้ำปัตตานี ด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ ศึกษาการจัดเก็บน้ำ เพื่อเป็นแก้มลิงสำหรับการเกษตรในหน้าแล้ง ข้อเสนอของเอกชนในพื้นที่ทั้งในประเด็นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการตลาด การส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรมและเมืองท่องเที่ยวชายแดน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางรถและทางรางในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยโครงการสำคัญอย่างสนามบินเบตง จะเริ่มเปิดให้บริการในกลางปี 2563 นี้เชื่อว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้มาก ให้เร่งรัดดำเนินโครงการขยายช่องทางจราจรเป็น 4 เลน ในโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินทางเลี่ยงเมือง จ.ยะลา การเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 410 และ 4326 ตอนตะบิงติงงี - สนามบินเบตง การพัฒนาเส้นทางเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ – ด่านชายแดน รวมทั้งการบริการรถไฟ ขบวนรถไฟ “ทักษิณารัถย์” ทั้งการเพิ่มระยะทางจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ไปถึงสถานีสุไหงโก-ลก การเพิ่มจำนวนรถตู้รถไฟ