posttoday

'พาณิชย์' โรดโชว์อินเดีย จับคู่การค้า หนุนส่งออกโต กวาดรายได้ 2,785 ล้านบาท

19 มกราคม 2563

'จุรินทร์' ควงผู้ประกอบการ 80 ราย เปิดตลาดการค้าไทย-อินเดีย ลุย 2 เมือง ได้ยอดขาย 2,785 ล้านบาท แนะส่งออกผลไม้-อาหารมีโอกาสขยายตัว

'จุรินทร์' ควงผู้ประกอบการ 80 ราย เปิดตลาดการค้าไทย-อินเดีย ลุย 2 เมือง คว้ายอดขาย 2,785 ล้านบาท แนะส่งออกผลไม้-อาหารมีโอกาสขยายตัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง ภายหลังการเปิดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายอาหารและผลไม้ไทย (Thai Food and Fruits Fiesta)ถึงผลสรุปการเจรจาการค้าและการจับคู่ธุรกิจที่เมืองบังกาลอร์ และไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ว่า ได้นำผู้ประกอบการ 80 รายเดินทางร่วมคณะเพื่อเปิดการเจรจาการค้าระหว่างไทย-อินเดีย โดยครั้งนี้สามารถสร้างมูลค่าการค้าขายได้ 2,785 ล้านบาท

ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลอินเดีย ได้แก่ นโยบาย housing for all สำหรับการส่งออกไม้ยางและวัสดุก่อสร้าง นโยบาย plastic ban สำหรับการส่งออกมันสำปะหลัง เพื่อทำพลาสติกชีสภาพ รวมทั้งการส่งออกอาหาร ผลไม้ เนื่องคนอินเดียชอบมาก เพราะอาหารคล้ายกัน สิ่งสำคัญคือไทยต้องเพิ่มการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจบริการ ร้านอาหาร ต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์

สำหรับมูลค่าการค้าที่เกิดขึ้นในเมืองบังกาลอร์สามารถสร้างมูลค่าการค้าได้ ดังนี้คือ 1. ยาง 11,000 ลูกบาศก์เมตร มูลค่า 100 ล้านบาท 2. มันสำปะหลัง 3,500 ตัน มูลค่า 72 ล้านบาท 3. กาวผง 1,200 ตัน มูลค่า 60 ล้านบาท 4. MOU สินค้าอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ อาหาร เคมีภัณฑ์ รวมมูลค่า 805 ล้านบาท

5. เปิดตัวสินค้าไทย 200 รายการใน Bigbasket.com เว็บขายของออนไลน์ใหญ่ที่สุดในอินเดีย คาดว่าในปีแรกจะสร้างยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท รวมมูลค่าการเจรจาทั้งหมดประมาณ 1,100 ล้านบาท

ส่วนที่เมืองไฮเดอราบัด สามารถสรุปมูลค่าการเจรจาการค้าและการจับคธุรกิจได้ ดังนี้คือ ไม้ยาง 1280 ลูกบาศก์เมตร มูลค่า 17.5 ล้านบาท
ทีวี LCD 1280 เครื่อง มูลค่า 1,500 ล้านบาทเสื้อผ้า 100 ล้านบาท แป้งมัน 1,000 ตัน มูลค่า 18 ล้านบาท และบริการด้านโลจิสติกส์ที่ช่วยการส่งออกของผู้ประกอบการรายย่อยของไทย ขยายการลงทุนมูลค่ารวม 50 ล้านบาท รวม 1,685 ล้าน เมื่อรวมมูลค่ารวมมูลค่าการค้าของทั้ง 2 เมือง เป็น 2,785 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสพบกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของรัฐเตลังกานา และได้มีความเห็นร่วมกันในการหาลู่ทางในการทำความตกลงระหว่างกระทรวงพาณิชย์และรัฐเตลังกานา เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกงสุลใหญ่ของไทยที่เมืองเจนไน เป็นผู้ประสานงานหลัก เพื่อกำหนดหัวข้อและประเด็นต่างๆ ของความร่วมมือ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า การตั้งศูนย์กระจายสินค้า

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลอาหารและผลไม้ไทย “ไทยฟู้ดแอนด์ฟรุ้ต ฟิเอสต้า”ในซุปเปอร์มาร์เก็ตรีไลแอนซ์ สาขาหลัก 25 สาขา ใน 3 รัฐ ได้แก่ รัฐเตลังกานา ทมิฬนาฑู และรัฐอานธรประเทศ มีระยะเวลา 1 เดือนนับจากนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และรีไลแอนซ์ รีเทล

ปัจจุบันอาหารไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกเพิ่มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเป็นเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนอาหารชาติใดในโลก แต่ก็มีความใกล้เคียงกับอาหารอินเดีย เนื่องจากมีรสชาติเผ็ดร้อนและใช้กะทิเป็นวัตถุดิบหลักเช่นเดียวกับแกงของอินเดียใต้

นอกจากนี้ผลไม้ไทยยังเป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคกันในหมู่ชาวต่างชาติ ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นของผลไม้ไทยทั้งในด้านคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ผลไม้ 3 อันดับแรก ที่ไทยส่งออกสูงสุด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย โดยมีมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด 3,213 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 99,000 ล้านบาทในปี 2562 และด้วยมูลค่าส่งออกดังกล่าวส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลไม้อันดับที่ 6 ของโลก

สำหรับอินเดีย ปัจจุบันมีการนำเข้าผลไม้สดจากไทยหลายชนิด โดยเฉพาะมังคุด สัปปะรด มะม่วง เงาะ ฝรั่ง ลำไย และทุเรียน อันเป็นผลจากการลดอัตราภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย นอกจากนี้ ยังมีผลไม้อื่นๆ ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวอินเดียเพิ่มขึ้น อาทิ มะพร้าวน้ำหอม มะขามหวาน ลิ้นจี่ ซึ่งเชื่อว่าไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกต่อไปในตลาดอินเดีย