posttoday

พาณิชย์ เดินสายลุยตลาดอินเดีย เจาะเมืองไซเบอร์ 'ไฮเดอราบัด'

19 มกราคม 2563

จุรินทร์ บุกถึงไฮเดอราบัด กระชับมิตรรัฐเตลังกานา สร้างโอกาสไม้ยางพารา-มันสำปะหลังไทย

จุรินทร์ บุกถึงไฮเดอราบัด กระชับมิตรรัฐเตลังกานา สร้างโอกาสไม้ยางพารา-มันสำปะหลังไทย

รายงานข่าว ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมเจรจาการค้าสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างไทย-อินเดียและการสัมมนาเรื่อง "โอกาสทางธุรกิจของสินค้าไม้ยางพาราไทยในอินเดีย" เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

นายจุรินทร์ กล่าวว่าการเดินทางมาเยือนเมืองไฮเดอราบัด สาธารณรัฐอินเดียในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการเดินทางเยือนอินเดียครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ที่มุมไบและเจนไน ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเทศอินเดียเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ในครั้งนี้ ยังได้มีโอกาสมายังเมืองไฮเดอราบัด ศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอทีและอุตสาหกรรมยาของอินเดีย จนได้รับการขนานนามว่า "ไซเบอราบัด" (Cyberabad) และ "จีโนม วัลเลย์" (Genome Valley) และได้เห็นการพัฒนาเมืองใหม่ การเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติที่มีชื่อเสียงระดับสากลหลากหลายสาขา รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ทันสมัยเพื่อรองรับการขยายตัวของสังคมเมืองที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยเน้นย้ำภาพลักษณ์ของอินเดียยุคใหม่ ตามนโยบาย "อินเดียใหม่" ของรัฐบาล

"ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยจะช่วยสื่อสารไปยังนักธุรกิจไทยในทุกโอกาสที่อำนวยให้มุ่งความสนใจเข้ามาแสวงหาโอกาสด้านการค้าการลงทุนที่รัฐเตลังคานาให้มากยิ่งขึ้น" นายจุรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ได้รับการเยี่ยมคารวะและหารือจากนายคาลวากุลท์ลา ทารากา รามา เรา รัฐมนตรีบริหารเทศกิจ พัฒนาชุมชนเมือง อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์ แห่งรัฐเตลังกานา (รัฐมนตรีพาณิชย์แห่งรัฐ) โดยรัฐเตลังคานามีชื่อเสียงใน 14 สาขาธุรกิจ เป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยี IT บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ที่สุด5 อันดับแรก เช่น แอปเปิล อเมซอน กูเกิ้ล ไมโครซอฟท์ อเมซอนมีออฟฟิศที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่นี่ และเตลังกานาเป็นศูนย์กลางวัคซีนของโลก ผลิตวัคซีน1ใน3 ของโลก รวมทั้งสาขาโลจิสติกส์ และสิ่งทอก็มีศักยภาพ

นอกจากนี้ คนที่นี่ยังชื่นชอบอาหารไทย การท่องเที่ยว อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรัฐเตลังกานาไม่มีทางออกทะเล รัฐจึงให้การอุดหนุนต้นทุนการขนส่ง 5 ปีแรก และสำคัญคือเศรษฐกิจที่นี่ขยายตัว 2 เท่าของเศรษฐกิจอินเดีย

สำหรับประเด็นความร่วมมือ ที่ได้จากข้อหารือ คือ 1.สามารถร่วมมือด้านอาหาร วัสดุก่อสร้าง ไม้ยางพารา และมันสำปะหลังในการทำพลาสติกชีวภาพ ตามนโยบาย Plastic ban และแป้งมันสามารถนำมาทำยาได้ 2.รัฐเตลังกานากำลังจัดตั้ง furniture park

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยสามารถมาตั้งบริษัท โรงงาน หรือส่งออกมาที่นี้ได้ และไทยสามารถใช้เมืองไฮเดอราบัดเป็นฐานในการทำตลาดเฟอร์นิเจอร์ในอินเดียได้ ส่วนทางอินเดียสามารถอำนวยความสะดวกกับประเทศผู้ให้การสนับสนุนนโยบาย plastic ban นอกจากนี้นายจุรินทร์ยังยังให้แนวทางการทำงานว่าสามารถหารือและประสานเกี่ยวกับความร่วมมือกับกงสุลใหญ่ หรือสำนักงานพาณิชย์ที่เจนไนได้ตลอดเวลา