posttoday

'ชิลี' ครองแชมป์ ไทยแห่ใช้สิทธิเอฟทีเอเพิ่มยอดส่งออก

14 มกราคม 2563

สถิติการใช้เอฟทีเอ 13 ฉบับ 18 ประเทศ ชี้ไทยใช้สิทธิ์ส่งออกเพิ่มต่อเนื่อง เฉลี่ยต่อปีมากว่า 70 % ชิลีเบอร์ 1 ประเทศคู่ค้าใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกสูงสุด เตรียมยกระดับเอฟทีเอให้เท่าทันรูปแบบการค้าใหม่ๆ

สถิติการใช้เอฟทีเอ 13 ฉบับ 18 ประเทศ ชี้ไทยใช้สิทธิ์ส่งออกเพิ่มต่อเนื่อง เฉลี่ยต่อปีมากว่า 70 % ชิลีเบอร์ 1 ประเทศคู่ค้าใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกสูงสุด เตรียมยกระดับเอฟทีเอให้เท่าทันรูปแบบการค้าใหม่ๆ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถิติการใช้ประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยลงนามและบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน 13 ฉบับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง พบว่า ช่วงปี 2558-2561 ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิส่งออกจากเอฟทีเอต่อรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ภายใต้ เอฟทีเอ 12 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมิถุนายน 2562) เป็นสัดส่วนเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 73

ส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 สัดส่วนดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 78.25 โดยประเทศคู่ค้าที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชิลี ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และเปรู ตามลำดับ สินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอส่งออกอันดับต้น ได้แก่ รถยนต์ขนส่งของ รถยนต์ส่วนบุคคล เนื้อไก่และเครื่องในไก่แปรรูป น้ำตาลที่ได้จากอ้อย และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เป็นต้น

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอระหว่างการส่งออกและการนำเข้า พบว่าไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์จากการส่งออกด้วยเอฟทีเอสูงกว่าการใช้สิทธิประโยชน์จากการนำเข้าด้วยเอฟทีเอ โดยในช่วงปี 2558-2561 ไทยส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอทั้ง 12 ฉบับเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อปีถึง 58,261 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าการนำเข้าเป็นมูลค่าเฉลี่ย 28,502 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอแล้ว 50,312 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สูงกว่าการนำเข้า 22,718 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้กรมฯยังเตรียมเปิดทบทวนยกระดับความตกลงเอฟทีเอปัจจุบันที่ไทยทำกับหลายประเทศ เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และไทย-อินเดีย เป็นต้น เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมหรือผนวกข้อบทใหม่ในเอฟทีเอให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งเดินสายลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการในเครือข่ายของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

นางอรมน กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยทั้งผู้นำเข้าและส่งออก ควรตรวจเช็คอัตราภาษีที่คู่เอฟทีเอให้กับไทย หรือไทยให้กับคู่เอฟทีเอก่อนทำการค้า และเลือกใช้กรอบเอฟทีเอที่มีอัตราภาษีหรือมีการคำนวณถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยมากที่สุด