posttoday

เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ! ปี2020 ไทยก้าวสู่ "ยุคอุตสาหกรรม4.0" อย่างแท้จริง

13 มกราคม 2563

"เศรฐพงค์"ชี้ ปี2020 ไทยเข้าสู่ "อุตสาหกรรม 4.0" อย่างแท้จริง ชี้เหตุ "รสนิยม-พฤติกรรม-เทคโนโลยี" เปลี่ยนแปลงสอดคล้อง แนะเตรียมรับมือ "Bank of Things”

"เศรฐพงค์"ชี้ ปี2020 ไทยเข้าสู่ "อุตสาหกรรม 4.0" อย่างแท้จริง ชี้เหตุ "รสนิยม-พฤติกรรม-เทคโนโลยี" เปลี่ยนแปลงสอดคล้อง แนะเตรียมรับมือ "Bank of Things”

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กมธ.ดีอีเอส กล่าวถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในปี 2020 ว่า ในปีนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนด้านระบบนิเวศดิจิทัล ในลักษณะเหมือนเครื่องบินที่ยกตัวขึ้นพ้นจากรันเวย์ทะยานสู่ท้องฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G ที่จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าเป็น Iot (Internet of things) ทำให้ระบบการเงินสามารถเชื่อมกับเซ็นเซอร์ต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยการเชื่อมต่อนั้น จะทำให้เกิดรูปแบบอัตโนมัติในการคิดคำนวณด้านการเงินมากขึ้น ทำให้ธนาคารไม่ได้เป็นธนาคารแบบที่เรารู้จักอีกต่อไป จะเป็นธนาคารในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่แค่โซเชียลแบงกิ้ง แต่จะมาทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์มในการค้าขาย การจ่าย การขนส่ง ซึ่งจะเริ่มปรากฏให้เห็นการเชื่อมโยงกัน รวมถึงแพลตฟอร์มของ retail หรือการค้าปลีก การขายออนไลน์ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย

"การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ ระบบธนาคารแบบเดิมจะล่มสลายลง ธนาคารจะมีรูปแบบแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป ตู้เอทีเอ็มจะเริ่มลดจำนวนลงแล้วทุกบริษัท ทุกแพลตฟอร์มสามารถเป็นแบงกิ้งได้หมด หรือ "Bank of Things" โดยเฉพาะร้านค้าปลีก จะได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ต้องมีการปรับตัวแล้วสุดท้ายร้านค้าปลีกจะกลายเป็นแบงกิ้งไปในตัว ตรงนี้ทำให้เห็นว่าคนทุกคนในสังคมกำลังถูกโจมตีด้วยเทคโนโลยีจากทุกทิศทุกทาง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของรสนิยม พฤติกรรม การดำรงชีวิต การกิน การอยู่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ต่างๆ เปลี่ยนไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ตรงนี้เป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในปี 2020 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง" พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่ตนอยากชี้ให้เห็นว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เราได้เห็นความก้าวหน้าทางระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยระบบการศึกษาแบบเก่าหรือแบบดั้งเดิม ที่คนในยุค Babyboom หรือ Gen X ได้วางไว้จะโบราณ ไม่ตอบโจทย์การศึกษายุคใหม่และจะค่อยๆ ล้มเหลวไป เกิดรูปแบบสถาบันการศึกษาเฉพาะทางจากบริษัทภาคเอกชนที่ไม่เน้นปริญญา นักบริหารระบบการศึกษาภาครัฐจะต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรง และจะต้องเตรียมรับมือ เพราะการศึกษาจะเปลี่ยนรูปแบบไป เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ตัวเอง โดยที่ไม่ต้องอาศัยโรงเรียนอย่างชัดเจนมากขึ้น การศึกษาและเทคโนโลยีชั้นสูงจะลงมาอยู่ในมือเด็กๆ แล้วเด็กๆ ก็จะท้าทายระบบการศึกษา แล้วเขาจะย้อนถามคนที่จบ ป.โท-ป.เอก ในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมว่า สิ่งที่เขาทำได้ ทำไมคนที่เรียนมาในแบบเดิมทำไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กของเด็กนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่เขาสามารถค้นคว้า ศึกษาหาความรู้ในระดับปริญญา เพื่อมาพัฒนาการใช้งานดาวเทียมได้ ซึ่งดาวเทียมที่น้องๆ เขาพัฒนาขึ้น ได้ใช้เพื่อเก็บข้อมูลทางกายภาพของชั้นบรรยากาศปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการปลูกพืช เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของพืชผักได้ รวมทั้งยังใช้ในการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 หรือมลพิษในอากาศ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นเนื่องจาก พฤติกรรมผู้บริโภค รสนิยมของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนในยุค Gen Alpha และ Gen Z ที่คนกลุ่มเหล่านี้มีรสนิยมเปลี่ยนไป ค่านิยมเปลี่ยนไป ประกอบกับการที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามาพอดีโดยเฉพาะระบบ 5G ตรงนี้เป็นจุด Take off ของประเทศไทย จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน โดยเริ่มแรกคนอาจจะยังปรับตัวไม่ทัน เนื่องด้วยระบบเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากระบบการลงทุนแบบเดิมมาเป็นรูปแบบใหม่ โดยในปี 2021 นักลงทุนจะเริ่มจับทิศทางได้ว่าการลงทุนจะมีทิศทางไปในด้านดิจิทัล Real time และบ่งบอกตำแหน่งด้วยการวิเคราะห์ที่ชาญฉลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกกระจายตัวออก เหมือนที่เกิดกับวงการสื่อมวลชนมาแล้ว หลังจากที่มีโซเชียลมีเดียเข้ามา ทำให้ประชาชนสามารถเป็นสื่อได้เองเหมือนกับบริษัท