posttoday

การอำนวยความสะดวกทางการค้าอาเซียน (6)

09 มกราคม 2563

คอลัมน์เซียนอาเซียน

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th

กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นหลักเกณฑ์จำกัดสิทธิประโยชน์ตามความตกลงเปิดเสรีการค้าไว้ให้เฉพาะสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกที่อยู่ในความตกลง ข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อลดอุปสรรคจากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าในการแสวงหาประโยชน์ตามความตกลงเปิดเสรีการค้า ดังนี้

  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กทราบและเข้าใจสิทธิประโยชน์ตามความตกลงการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และการยื่นขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า
    รวมถึงการใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
  • ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดด้วยตนเอง (Self Certification) ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ได้ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาก่อน ในส่วนนี้
  • กรมการค้าต่างประเทศอาจกำหนดเกณฑ์คัดเลือกผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแต่ยังไม่เคยใช้ระบบรับรองสินค้าด้วยตนเอง เพื่อมารับทราบขั้นตอนและรายละเอียดการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิและการใช้ใบกำกับสินค้ารับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ตลอดจนความแตกต่างของระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของภูมิภาคอาเซียน
  • เสนอให้กรมการค้าต่างประเทศทบทวนขยายรอบระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิรายงานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง การไม่ส่งออกสินค้าตามที่ได้แจ้งไว้ในคำขอขึ้นทะเบียน และการส่งออกสินค้าแต่ไม่ได้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง เช่น เป็นทุกรอบไตรมาสซึ่งจากเดิมที่กำหนดให้รายงานภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปทุกเดือน การขยายระยะเวลารายงานออกไปจะช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายของผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิ อันจะนำไปสู่การใช้การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองและการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าตามความตกลงให้เพิ่มมากขึ้น
  • จัดตั้งช่องทางให้ภาคเอกชนไทยนำเสนอปัญหาจากการปฏิบัติตามเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การตรวจคุณสมบัติสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิ และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและในต่างประเทศต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนเผยแพร่ปัญหาและความคืบหน้าในการติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างเข้าถึงได้ง่าย เช่น การเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำรายงานศึกษาอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ตามความตกลงการค้าโดยละเอียด ทั้งการใช้สิทธิประโยชน์โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้าและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง เพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อผู้กำหนดนโยบายเป็นครั้งคราว เช่น ทุกรอบ 3 ปี
  • ผลักดันการดำเนินการของคณะอนุกรรมการว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และ ให้ดำเนินการติดตามการบังคับใช้และดำเนินการเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเผยแพร่ผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการดังกล่าว
  • เร่งเจรจาให้มีระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเพียงระบบเดียวในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยจะมีบทบาทนำเสนอประสบการณ์การใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
  • พัฒนาระบบตรวจสอบภายหลังการตรวจปล่อย (Post-audit) รวมทั้งนำระบบการประเมินความเสี่ยงมาใช้สุ่มตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายในประเทศ ตลอดจนชี้แจงรายละเอียดการยื่นให้มีการวินิจฉัยถิ่นกำเนิดสินค้าล่วงหน้า (Advance Ruling) ในต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ส่งออกใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการเปลี่ยนไปใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองแทนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแล้ว ไม่แต่เพียงช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายของผู้ส่งออกในการยืนยันถิ่นกำเนิดสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอีกด้วย
  • ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ด้านต่าง ๆ เช่น การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการยื่นตรวจคุณสมบัติสินค้าด้านถิ่นกำเนิดสินค้า การยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย (Post-audit) และระบบการวินิจฉัยถิ่นกำเนิดสินค้าล่วงหน้า (Advance Ruling) เพื่อลดอุปสรรคจากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าให้เพิ่มมากขึ้น