posttoday

เอกชนห่วงเศรษฐกิจปี'63 สหรัฐ-อิหร่านยืดเยื้อ ดันน้ำมันพุ่งกระทบกำลังซื้อ

08 มกราคม 2563

กกร.คาดจีดีพีปี'63โต 2.5-3% ภาพรวมเศรษฐกิจไทยังเจอปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ ค่าเงินผันผวน ปมขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน ภัยแล้ง ฉุดกำลังซื้อในประเทศไม่ขยายตัว กระตุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ

กกร.คาดจีดีพีปี'63โต 2.5-3 % ภาพรวมเศรษฐกิจไทยังเจอปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ ค่าเงินผันผวน ปมขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน ภัยแล้ง ฉุดกำลังซื้อในประเทศไม่ขยายตัว กระตุ้นรัฐเร่งเบิกจ่ายงบ

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดันที่ต่อเนื่องมาจากในปี 2562 ไม่ว่าจะเป็น ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความผันผวนของค่าเงิน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมใหม่ ได้แก่ ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางจากกรณีสหรัฐฯและอิหร่าน ที่หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจผลักดันให้ราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่อง และภาวะแล้งที่รุนแรงในประเทศ ที่นอกจากจะกระทบผลผลิตและกำลังซื้อเกษตรกรแล้ว อาจมีผลให้ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นดังกล่าว จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของทางการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น

ทั้งนี้ได้กำหนดกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 โดย การส่งออกอาจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัดหรือมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัว 2% ถึง 0 % ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหรือ จีดีพี ปี 2563 อาจขยายตัวราว 2.5-3 % ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.8-1.5% ซึ่งรองรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อาจยืนสูงที่ระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน

อย่างไรก็ตามปัจจัยลบต่างๆ ที่ประชุม กกร. ต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการบังคับใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ขณะเดียวกันควรเตรียมแผนรับมือฉุกเฉินจากปัญหาภัยแล้งและเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ การดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่เพียงจะมีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ยังเชื่อมโยงถึงภาคการผลิตและการจ้างงานอีกด้วย ส่วนโอกาสของประเทศไทยต้องสร้างบรรยากาศให้ดีเน้นเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย โดยเรายังศักยภาพด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นศูนย์กลางอาหารในภูมิภาค

นายกลินทร์ กล่าวถึง ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3% รวมทั้งปรับลดมูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ ติดลบ 2.5% จากเดิมที่คาดไว้ ติดลบ 2 ถึง 0% ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.7% จากเดิมคาด 0.8-1.2%