posttoday

ผู้ว่าทางด่วนไขก็อก เซ่นปมค่าโง่แสนล้าน ปัดหนุนขยายสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน

07 มกราคม 2563

สุชาติ ยื่นใบลาออกผู้ว่าการ กทพ. มีผล 30 วันหลังวันที่ยื่น เพื่อแสดงความรับผิดชอบ กรณีไม่เห็นด้วยต่อการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน

สุชาติ ยื่นใบลาออกผู้ว่าการ กทพ. มีผล 30 วันหลังวันที่ยื่น เพื่อแสดงความรับผิดชอบ กรณีไม่เห็นด้วยต่อการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ.ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ.แล้ว โดยจะมีผล 30 วันหลังจากวันที่ยื่น ตามเงื่อนไขสัญญาจ้างผู้ว่าฯ กทพ. ซึ่งพนักงาน กทพ.ส่วนใหญ่รับทราบ

โดยเหตุผลในการยื่นใบลาออกคือเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบกรณีที่ไม่เห็นด้วยต่อการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน และได้แสดงความเห็นคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการ กทพ. เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามยื่นข้อเสนอให้ทางคณะกรรมการ กทพ. พิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทเฉพาะในส่วนที่ กทพ.แพ้คดีจากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น

เนื่องจากคดีข้อพิพาทที่เหลือยังไม่มีการตัดสินจึงมองว่า กทพ.ยังมีโอกาสที่จะชนะคดีอยู่ในส่วนของแนวทางยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BEM) ที่มีการขอให้ทำการทบทวนนั้นมีการฟ้องร้องรวม 17 คดี มูลค่าความเสียหายจากข้อพิพาทประมาณ 58,000 ล้านบาท แลกกับสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการสั่งการให้ กทพ.พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมไม่ใช่หาแนวทางยุติข้อพิพาท

ทั้งนี้นายสุชาติฯ ได้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ.วันที่ 27 ก.ย. 2561 ต่อมาโดนคำสั่งย้ายตามมาตรา 44 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2562 โดยเป็นคำสั่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2562 กลับเข้ามาเป็นผู้ว่าการ กทพ.อีกครั้ง และจะครบวาระวันที่ 2ก.ค. 2563 รวมถึงทางคณะกรรมการ กทพ.ได้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ว่าการ กทพ.คนใหม่แล้ว โดยมีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ กทพ.ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดพิเศษเกี่ยวกับแนวทางในการเจรจากับ BEM เพื่อยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน ที่มีมูลค่าที่ 58,873 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขหลัก คือ ไม่มีการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck )

และยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีต่อกัน 17 คดี โดยจะมีการต่อขยายสัญญาโครงการทางด่วน เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ว่าในที่ประชุมได้มีมติอนุมัติเรียบร้อยแล้วและจะนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการกำกับฯ ตามมาตรา 43 ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเข้ากระบวนการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี ต่อไป

ทั้งนี้ผู้บริหารบางฝ่ายในกทพ.มองว่าการต่อขยายสัมปทาน 30 ปี พร้อมเงื่อนไขให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 มูลค่า 32,000 ล้านบาท จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า โดยเฉพาะการแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนทางด่วนศรีรัช ซึ่งปัจจุบันมีปัญหารถติดตลอดทั้งวัน รวมถึงเป็นการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นกับ BEM หากมีเอกชนที่บริหารทางด่วน ชั้น 1 และ ชั้น 2 เป็นเอกชนคนละรายกัน