posttoday

เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ คุมน้ำเค็ม "เจ้าพระยา" 8-9 ม.ค.นี้

06 มกราคม 2563

กรมชลฯ" เตรียมใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ควมคุมค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา รับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกระลอก 8-9 มกราคมนี้

กรมชลฯ" เตรียมใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ควมคุมค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา รับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกระลอก 8-9 มกราคมนี้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า เตรียมใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ที่ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการเป็นเครื่องมือเสริมในการควบคุมค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและภาคการเกษตร ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกรอบช่วง8-9 ม.ค.นี้

ซึ่งเป็นมาตรการเสริมจากที่กรมจะใช้การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและผันน้ำจากลุ่มแม่กลองเป็นหลัก โดยจะปิดบานช่วงน้ำทะเลหนุนและเปิดช่วงน้ำลงเพื่อเร่งระบายน้ำออกทะเล

ปัจจุบันระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยามาในอัตรา 85 ลบ. ม. ต่อวินาที โดยยังคงรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมไว้ได้เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้เพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์มาสำรองไว้ที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาไว้แล้ว ซึ่งจะระบายมาเจือจางค่าความเค็มด้านท้ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ยังผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองทางคลองจรเข้สามพันและคลองท่าสาร-บางปลามายังแม่น้ำท่าจีนในอัตรา 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วระบายผ่านคลองพระยาบันลือลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมั่นใจว่า จะควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และการทำการเกษตรพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาด้านท้ายได้

"ได้ประสานกับการประปานครหลวงดสูบน้ำที่สถานีสำแล ปทุมธานีช่วงน้ำทะเลหนุนสูงเพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าระบบ เมื่อน้ำทะเลลงและตรวจวัดค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตรจึงสูบส่งมาต่อมายังโรงกรองน้ำบางเขนเพื่อผลิตน้ำประปาตามปกติ" นายทองเปลว กล่าว

สำหรับการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ระบายวันละ 18 ล้านลบ.ม. ปรับลดจากช่วงก่อนปีใหม่ที่ระบายวันละ 28 ล้านลบ.ม. เพื่อมาสำรองไว้สำหรับควบคุมค่าความเค็ม จากนี้ไปจะคงการระบายที่ 18 ล้านลบ.ม. ต่อวันจนสิ้นสุดฤดูแล้งและต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน

ส่วนการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาช่วย มีแผนจะระบายตลอดฤดูแล้ง 500 ล้านลบ.ม. และระบายอีก 350 ลบ.ม. เพื่อให้มีมีน้ำอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 63 ซึ่งหลังจากนั้นกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฝนจะตกต่อเนื่องแล้ว

สำหรับที่เป็นห่วงว่า ชาวนา 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังถึง 1.58 ล้านไร่แล้ว อาจส่งผลให้มีการดึงน้ำที่สงวนไว้สำหรับอุปโภค-บริโภคไปใช้ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งล่วงหน้าแล้วว่า ไม่มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากกรมชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุน แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งทำนาปรังเนื่องจากมีแหล่งน้ำของตัวเองเช่น บ่อบาดาล สระน้ำชุมชุน

อีกส่วนหนึ่งปลูกโดยรับทราบความเสี่ยงว่า อาจประสบภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้แจ้งผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดในการแจ้งเตือนโดยตลอด แต่ขณะนี้อัตราการปลูกเพิ่มลดลงแล้ว

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานกลางหลังได้รับรายงานจากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า ปัจจุบัน (5 ม.ค. 63) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ปัจจุบันที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร ยืนยันไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อน ส่วนที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ,ชัยภูมิ ,มหาสารคาม ,กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด อาทิในพื้นที่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม

โครงการชลประทานมหาสารคามและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาติดป้ายประชาสัมพันธ์และเครื่องกระจายเสียง ออกวิ่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด โครงการชลประทานร้อยเอ็ด และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ ประชุมร่วมกับอาสาสมัครชลประทาน เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของอาสาสมัครชลประทาน และแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 พร้อมส่งรถติดเครื่องขยายเสียงลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่

ด้านจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพรม-เชิญ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปาอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอชุมแพจังหวัดขอนแก่น พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการชลประทานกาฬสินธุ์และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ลงพื้นที่ประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน JMC ของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ทุกอ่างฯ เพื่อชี้แจงแผนการบริการจัดการน้ำ พร้อมชี้แจงสถานการณ์น้ำและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอีกด้วย

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างไม่ขาดแคลน

 

//