posttoday

ดึงแม่น้ำแม่กลอง 2 พันล้าน ลบ.ม. ฝ่าวิกฤตภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยา

03 มกราคม 2563

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกกำลังฝ่าวิกฤติบริหารน้ำสู้ภัยแล้ง ดึงน้ำแม่กลอง 2 พันล้าน ลบ.ม. ช่วยรักษาระบบนิเวศน์   วอนทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกกำลังฝ่าวิกฤติบริหารน้ำสู้ภัยแล้ง ดึงน้ำแม่กลอง 2 พันล้าน ลบ.ม. ช่วยรักษาระบบนิเวศน์   วอนทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ให้กรมชลประทานผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อมาช่วยลุ่มเจ้าพระยาตลอดฤดูแล้ง (พ.ย. 62- เม.ย. 63) จากเดิม  500  ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เป็น  2,000 ล้านลบ.ม. เนื่องจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศน้อยมากคิดเป็น  62% ของปริมาณน้ำทั้งหมดหรือประมาณ  46,900  ล้านลบ.ม

โดยมีน้ำใช้การได้ 23,070 ล้านลบ.ม. หรือ  44% เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,987 ล้าน ลบ.ม. หรือ  44%ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน4,291 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น  24%  ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เปรียบเทียบกับปี 2558 มีน้ำใช้การเพียง 3,930 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

"ครั้งนี้กำชับให้บริหารอย่างเข้มงวด โดยในสวนของเกษตรกรได้แจ้งเตือนล่วงหน้าแล้วว่า ขอความร่วมมืองดเว้นการปลูกข้าวเพราะจะส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ และพืชต่อเนื่องเท่านั้นเช่นไม้ผล ไม่มีการส่งน้ำเพื่อการนา เกษตรกรต้องรับความเสี่ยงเอง โดยกระทรวงเกษตรฯมีมาตรการรองรับในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ระหว่างการงดทำนาในฤดูแล้ง" นายเฉลิมชัยกล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สำหรับผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 กรมชลประทาน ได้มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 17,620 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปี61/62 ประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก รวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม.(น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,700 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำฯทั้งประเทศ ณ 2 ม.ค. 63  มีการใช้น้ำตามแผนฯ ไปแล้วประมาณ 5,558 ล้าน ลบ.ม. หรือ  31% ของแผนจัดสรรน้ำฯเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 1,707 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43%  ของแผนจัดสรรน้ำฯ

ส่วนแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธ.ค. 62)ได้ทำการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 2.33 ล้านไร่ คิดเป็น 82%ของแผนฯ แยกเป็นข้าวนาปรัง 2.21 ล้านไร่ คิดเป็น 95%และพืชไร่-พืชผัก 0.12 ล้านไร่ 23% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนด้านการเกษตร

"แต่จากการสำรวจพบว่าบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 1.54 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเอง  อย่างไรก็ตามกรมชลนได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในลุ่มเจ้าพระยา 22 จ.ให้ประชาสัมพันธ์รณรงค์ในการประหยัดน้ำ" นายทองเปลว กล่าว

นายประภัตร โพธสุทน  รมชงเกษตรฯกล่าวว่า  ขณะนี้นาที่เห็นเป็นนาต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว หลังจากนี้คงไม่มีใครปลูกอีกเพราะรู้ว่าน้ำน้อยเสี่ยงขาดทุน แต่ยอมรับว่าในหลายพื้นที่ก็ยังมีการสูบน้ำจากแม่น้ำกันมาก กระทบกับน้ำที่ปล่อยมาดันน้ำเค็ม 

"ไปดูที่กำแพงเพชร หัวสูบเรียงกันเป็นร้อยตัวน้ำก็ต้องหาย แต่คาดว่า หลังจากนี้จะลดลงเพราะประสานกับมหาดไทยแล้วให้เขาช่วยดู  ส่วนนอกพื้นที่ชลประทานได้ประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วให้ช่วยในเรื่องขุดเจาะน้ำบาดาล" นายประภัตรกล่าว

ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ป.ภ.) ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง ในเขต 13 จังหวัดได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์นครราชสีมากาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี

กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถยนต์บรรทุกน้ำ และเครื่องจักกลอื่นๆตามสำนักงานชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กรมชลประทานต้องดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผน อย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้ว่า ปัจจุบันแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น49,789ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น61% เป็นปริมาณน้ำใช้การ25,714ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น44% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ20,738ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น  44%โดยล่าสุดมีเขื่อนขนาดใหญ่14 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า30% ได้แก่ เขื่อนแม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อน กระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล

ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลาง 354แห่ง จากทั้งหมด660 แห่งที่มีระบบติดตามได้ พบว่า อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อยจำนวน 91แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 29แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ46 แห่ง ภาคกลาง2 แห่ง ภาคตะวันออก10 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้2 แห่ง

ซึ่งขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ได้มีการปรับแผนการดำเนินงานโดยใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ทันทีภายในระยะ 1 – 2 เดือนนี้

ทั้งนี้สทนช.ได้มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบแผนและผลการจัดสรรน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่เขตชลประทานมีมาตรการในการควบคุมจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำและสอดคล้องต่อปริมาณน้ำต้นทุน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการปรับแผนจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-กลางแล้ว 25แห่ง แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่14 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ1 แห่ง ภาคตะวันออก5 แห่ง ภาคกลาง 1แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 3แห่ง และภาคตะวันออก 8 แห่ง

 “จากการติดตามแผน-ผลการจัดสรรน้ำสะสมรายวัน (1พ.ย.62 – 2 ม.ค.63 )ในลุ่มน้ำสำคัญ 4ลุ่มน้ำ พบว่า มี 2 ลุ่มน้ำที่มีการจัดสรรน้ำเกินแผน ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) จัดสรรน้ำแล้ว 1,398ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำ1,268 ล้านลบ.ม. เกินแผน 130ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำ โขง ชี มูล จัดสรรน้ำแล้ว 385ล้าน ลบ.ม. จากแผน379 ล้าน ลบ.ม. เกินแผน 6ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก (EEC) แม้ยังมีการจัดสรรน้ำน้อยกว่าแผน แต่คาดว่ามีแนวโน้มจะจัดสรรน้ำเกินแผน ดังนั้นสทนช.ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานคำนึงถึงลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลักโดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มน้ำด้านอุปโภค บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำจนถึงสถานีสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด”