posttoday

ไปลงทุนเอเชียใต้กันเถอะ!! ชี้ปี'63 พลังงานทดแทน-เกษตรแปรรูปมาแรง

01 มกราคม 2563

บีโอไอดันธุรกิจไทยลุยต่างประเทศ ปักธงกลุ่ม CLMV และอินโดนีเซีย ระบุ ปากีสถาน-บังคลาเทศ อ้าแขนรับลงทุน พลังงานทดแทน และเกษตรแปรรูปเทรนด์มาแรง

บีโอไอดันธุรกิจไทยลุยต่างประเทศ ปักธงกลุ่ม CLMV และอินโดนีเซีย ระบุ ปากีสถาน-บังคลาเทศ อ้าแขนรับลงทุน พลังงานทดแทน และเกษตรแปรรูปเทรนด์มาแรง

น.ส.รัตนวิมล นารี สุกรีเขต นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนระดับชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในปี 2563 แผนการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)และเพิ่มอินโดนีเซีย หรือ CLMVI ขณะเดียวกันในปีนี้จะให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ได้แก่ ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเอเชียใต้ โดยเฉพาะปากีสถานและบังคลาเทศ จากเดิมที่กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสิ่งที่นักลงทุนสนใจแต่ปัจจุบัน คนไทยสนใจไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน หรือกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเปิดกว้างมาก รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้วย

"บังคลาเทศ ปากีสถาน กำลังต้องการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้ทิศทางการเข้าไปลงทุนของต่างชาติเริ่มสนใจพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า ก่อนหน้านั้นธุรกิจไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านอยู่พอสมควรแล้วโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ขณะนี้เทรนด์เริ่มมายังธุรกิจพลังงานทดแทนที่บูมสุดโดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) เป็นส่วนใหญ่ และธุรกิจอีกประเภทที่มาแรงคือเกษตรแปรรูปเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านและเอเชียใต้เองก็มีพืชผลทางการเกษตรพอสมควร ซึ่งก็เป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในการแปรรูปที่จะเข้าไปลงทุนได้" น.ส.รัตนวิมลกล่าว

ทั้งนี้บทบาทการส่งเสริมการลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศของบีโอไอ จะเป็นการให้ข้อมูลแบบครบวงจร โดยมีศูนย์พัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศหรือ TOISC เพื่อจัดอบรมหลักสูตรนักลงทุนไทย ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมแล้ว 17 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 609 ราย ซึ่งจากการสำรวจสถานภาพของนักลงทุนที่ผ่านการอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ"รุ่นที่ 1-15 มีจำนวนผู้จบหลักสูตรทั้งสิ้น556 รายพบว่าจำนวนนักลงทุน 245 รายมีการประกอบธุรกิจในต่างประเทศแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนรวม 55.9% รองลงมาเป็นธุรกิจขายส่งและขายปลีก สัดส่วน 13.9% ธุรกิจก่อสร้าง 5.7% โลจิสติกส์ 5.3% ธุรกิจพลังงาน 4.5 % โดยประเทศที่ไทยไปลงทุนมากสุดคือเมียนมา เวียดนาม กัมพูชาและอินโดนีเซีย

สำหรับปี 2563 มีเป้าหมายจัดอบรมผู้ประกอบการ 50 ราย เตรียมเปิดช่วงเดือนมี.ค. 2563 โดยที่ผ่านมาเป็นที่สังเกตว่ระยะหลังผู้ที่เข้ามาอบรมจะเป็นเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น มีบุคคลิกที่เป็นคนคิดเร็วและด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นกว่าในอดีต

น.ส.รัตนวิมล กล่าวถึง ปัจจัยค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ปรับขึ้น 5-6 บาทต่อวันไม่ใช่ปัจจัยหลักในการผลักดันให้การลงทุนไทยไปต่างประเทศ แต่เหตุผลสำคัญ คือ ธุรกิจที่ยังต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ดังนั้นการจะมีฐานการผลิตในไทยคงไม่ใช่คำตอบแล้วเพราะไทยจะต้องยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่เน้นใช้นวัตกรรม ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าก็อาจจะมีส่วนผลักดันให้การลงทุนไปต่างประเทศได้แต่ก็คงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดเพราะการลงทุนจะต้องมองระยะยาวขณะที่ค่าเงินบาทอาจเป็นเรื่องระยะสั้น