posttoday

สรรพสามิตปัดต้องกองทุนเก็บภาษีรถเก่า

13 ธันวาคม 2562

กรมสรรพสามิต แจงไม่มีแผนตั้งกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมรถเก่า เพื่อบีบให้ผู้ใช้รถซื้อรถใหม่

กรมสรรพสามิต แจงไม่มีแผนตั้งกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมรถเก่า เพื่อบีบให้ผู้ใช้รถซื้อรถใหม่

กรมสรรพสามิต ได้ออกแถลงชี้งแจง กรณี นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะเข้าหารือกับกรมสรรพสามิตเพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์คันใหม่ ด้วยการเสนอให้กรมสรรพสามิตจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมกับรถยนต์เก่าที่ยังใช้งานอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าหากผู้ใช้รถซื้อรถยนต์ใหม่นำรถคันเก่าเข้าสู่กระบวนการกำจัดซากที่ได้มาตรฐานจะได้รับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.) ตัวเลขการขายรถยนต์ถดถอยลง นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังจะช่วยลด PM 2.5 ที่ออกมาจากรถเก่าได้อีกด้วย

ทั้งนี้ สังคมวิพากษ์วิจารณ์มาตรการดังกล่าวในเชิงลบอย่างมาก ดังนี้

1. เป็นมาตรการกดดันให้ประชาชนต้องซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งมีราคาสูงกว่ารถยนต์มือสอง (รถยนต์เก่า)

2. ทำให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์เก่าต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจพิจารณาชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของสังคม

ดังนั้นกรมสรรพสามิต จึงชี้แจงว่า ปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีเฉพาะรถยนต์ใหม่ที่ผลิตจากโรงอุตสาหกรรมหรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยจัดเก็บภาษีตามหลักสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดอัตราภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อย CO2 อันเป็นสาเหตุหลักให้เกิดสภาวะโลกร้อน และฝุ่น PM 2.5

กรณีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมให้กำจัดซากรถยนต์ เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนให้กรมสรรพสามิต เพื่อสร้างระบบในการกำจัดซากรถยนต์เก่าใช้แล้วอย่างถูกวิธีและเป็นไปตามมาตรฐานตามหลักสากล ซึ่งปัจจุบันมีซากรถยนต์เก่าใช้แล้วถูกทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต หากมีระบบการจัดการดังกล่าว ก็จะสามารถนำชิ้นส่วนและเศษเหล็กไปใช้ทำประโยชน์ได้ รวมทั้งช่วยลดปริมาณซากรถยนต์เก่าที่มีการจอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะ ซึ่งหลายประเทศได้มีการดำเนินการแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบของข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชน โดยจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีมาตรการหรือ การดำเนินการใดๆ ในชั้นนี้ จึงเป็นเพียงแนวคิดที่ภาคเอกชนนำเสนอต่อกรมสรรพสามิตเบื้องต้นเท่านั้น