posttoday

ศาลสั่ง AOT เลิกขวางโครงการเซ็นทรัลวิลเลจ วินิจฉัยชัดไม่ขัดต่องานบริการสนามบิน

11 ธันวาคม 2562

แฮปปี เอนดิง ส่งท้ายปี 62 บทสรุปข้อพิพาทระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ หรือ ทอท. และ เซ็นทรัล วิลเลจ ล่าสุดศาลปกครอง มีคำสั่งให้ ทอท. รื้อทุกสิ่งกีดขวางหน้าโครงการฯ พร้อมเคลียร์ทุกปมโล่ง

แฮปปี เอนดิง ส่งท้ายปี 62 บทสรุปข้อพิพาทระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ หรือ ทอท. และ เซ็นทรัล วิลเลจ ล่าสุดศาลปกครอง มีคำสั่งให้ ทอท. รื้อทุกสิ่งกีดขวางหน้าโครงการฯ พร้อมเคลียร์ทุกปมโล่ง

วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยมีคำสั่งให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ดำเนินการรื้อถอนสิ่งกีดขวางใดๆ ออกไปจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า - ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต และยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ใดๆ ของ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา และ บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด และการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด เพียงขอเปิดใช้ทางเชื่อมระหว่างโครงการกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อให้ยานพาหนะสามารถผ่านเข้า-ออกและขอใช้สาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อประกอบกิจการโครงการเท่านั้น ยังไม่ได้มีลักษณะถึงขั้นเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการปฏิบัติงานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย

ข้ออ้างของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ที่ว่า การเปิดทางเชื่อมจะทำให้การจราจรบริเวณหน้าโครงการหนาแน่นขึ้น กระทบต่อการเดินทางของผู้ที่ต้องการใช้บริการท่าอากาศยาน ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการ หรือกระทบต่อแผนพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น

อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ และส่วนที่อ้างว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวใกล้เคียงกับทางขึ้นลงท่าอากาศยานอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินอากาศนั้น ศาลฯ เห็นว่า เป็นเรื่องของการก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นคนละส่วนกับการทำทางเชื่อมเข้า-ออกที่พิพาทในคดีนี้
ดังนั้น การที่ศาลฯ จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามคำขอของ บมจ.เซ็นทรัลฯ จึงไม่เป็นการเสียหายหรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เป็นที่ราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของ บมจ.ท่าอากาศยานไทยนั้น เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่กรณีต่อไป