posttoday

"บำรุงราษฎร์ เฮลท์  เน็ตเวิร์ก" โมเดลธุรกิจใหม่ ผนึกโรงพยาบาลพันธมิตร ขยายฐานลูกค้ากลุ่มระดับกลาง

23 พฤศจิกายน 2562

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ "บำรุงราษฎร์ เฮลท์  เน็ตเวิร์ก" ร่วมมือกับโรงพยาบาลพันธมิตร ขยายฐานลูกค้าเซกเม้นต์ใหม่ กลุ่มคนระดับกลางทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด 

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ "บำรุงราษฎร์ เฮลท์  เน็ตเวิร์ก" ร่วมมือกับโรงพยาบาลพันธมิตร ขยายฐานลูกค้าเซกเม้นต์ใหม่ กลุ่มคนระดับกลางทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด 

เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ประกาศความร่วมมือทางธุรกิจรูปแบบใหม่ “Bumrungrad Health Network” โดยจะเริ่มความร่วมมือแรก ที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ 

โดยทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งมอบการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วยและเสริมสร้างการเติบโตไปพร้อมกัน เพื่อขยายกลุ่มตลาดใหม่ เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานที่สูงขึ้น 

นพ. สุธร ชุตินิยมการ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เริ่มสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตร "บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก" ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) แล้วจำนวน 58 แห่ง 

โดยการทำงานกับเครือข่ายในช่วงที่ผ่านมา เป็นลักษณะของการส่งต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางจากโรงพยาบาลพันธมิตรมาที่บำรุงราษฎร์ เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง 

“ทิศทางของบำรุงราษฎร์นับจากนี้เป็นต้นไปจะเพิ่มความร่วมมือกับโรงพยาบาลเครือข่ายอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเสริมพลัง สร้างศักยภาพการแข่งขันแก่โรงพยาบาลพันธมิตรและสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปด้วยกัน” นพ.สุธร กล่าว

ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจใหม่ที่ "บำรุงราษฎร์ เฮลท์  เน็ตเวิร์ก" จะเน้นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหม่ คือ กลุ่มคนระดับกลางทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด ตลอดจนกลุ่มผู้ซื้อประกันสุขภาพ โดยจะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลพันธมิตร การดำเนินงานจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในลักษณะ Joint Operation รวมถึงด้านเงินทุน ค่าใช้จ่าย ทรัพยากรและรายได้ 

นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และความชำนาญทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพันธมิตร เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ และมีแนวทางการรักษาผู้ป่วยบนมาตรฐานใกล้เคียงกัน เป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้ป่วยของโรงพยาบาลพันธมิตรได้เข้าถึงการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านอีกทางหนึ่งด้วย

 

นพ. สุธร กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นบำรุงราษฎร์จะเน้นการให้บริการใน 4 กลุ่มโรคหลักคือ 1.โรคข้อ 2. โรคกระดูกสันหลัง          3. ผู้ป่วยวิกฤต และ 4. โรคตา ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์นั้น จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาลพันธมิตรว่าต้องการให้เข้าไปช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านใด สำหรับการดำเนินงานในระยะแรกจะมีการจัดตั้ง "ศูนย์กระดูกสันหลังและข้อ" ร่วมกับกลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์ตรงกันในการส่งมอบคุณภาพการรักษาที่ดีแก่ผู้ป่วยและสร้างการเติบโตไปด้วยกัน ถือเป็นต้นแบบแห่งแรกในการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตรภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่

 

"แนวคิดหลักคือเราต้องการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่และเปิดตลาดในกลุ่มเป้าหมายใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งถือว่าเปิดตลาดใหม่เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจทั้งของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลพันธมิตร การดำเนินการจะตั้งอยู่บนบริบทของโรงพยาบาลพันธมิตรและมีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ เพื่อให้มีต้นทุนและค่าบริการที่สามารถแข่งขันได้" นพ.สุธร กล่าว

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้บำรุงราษฎร์ตัดสินใจเปิดตลาดในเซกเม้นต์ใหม่นี้ เนื่องจากได้เรียนรู้จากประสบการณ์ความร่วมมือกับโรงพยาบาลพันธมิตรในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาว่าโรงพยาบาลพันธมิตรต้องการการสนับสนุนจากแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เช่น โรงพยาบาลหนึ่งอาจมีความชำนาญการผ่าตัดทั่วไป แต่ก็สามารถเพิ่มการผ่าตัดเฉพาะด้านในระดับที่สูงขึ้นได้ 

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับโรงพยาบาลพันธมิตร ซึ่งแต่เดิมอาจเป็นการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากนี้จะเริ่มทำงานร่วมกันเข้มข้นมากขึ้น มีการลงทุนร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ลึกขึ้นกว่าเดิม 

 

ด้าน นาย จอห์น ลี โกะชุน ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีโรงพยาบาลในการดูแลจำนวน 8 แห่งและกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ในบางเรื่องโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ทั้งหมดเพราะมีคนที่ทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว การจับมือกันน่าจะดีกว่า นี่จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันในครั้งนี้