posttoday

ทุ่ม 600 ล้านเคลียร์ถนน รับกฏใหม่วิ่งขวา120 กม./ชม. นำร่องสายบางปะอิน-นครสวรรค์

20 พฤศจิกายน 2562

กรมทางหลวงเตรียมใช้งบประมาณปรับปรุงถนน 600 ล้านบาท ก่อนบังคับใช้รถยนต์วทำความเร็ว 120 กม. / ชม. เส้นบางปะอิน-นครสวรรค์ นำร่องเริ่มใช้เฟสแรก ปี'63 ระยะทาง 50 กม.

กรมทางหลวงเตรียมใช้งบประมาณปรับปรุงถนน 600 ล้านบาท ก่อนบังคับใช้รถยนต์วทำความเร็ว 120 กม. / ชม. เส้นบางปะอิน-นครสวรรค์ นำร่องเริ่มใช้เฟสแรกปี'63 ระยะทาง 50 กม.

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึง แนวทางการกำหนดอัตราความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจร ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร(กม.)ต่อชม.นั้น จากการลงพื้นที่สำรวจการใช้ความเร็วบนถนนสายหลัก พบว่า ถนน 4 ช่องขึ้นไปกว่า 60% ใช้ความเร็วเกิน 90 กม.ต่อ ชม. ดังนั้น ทล.ได้คัดเลือกเส้นทางนำร่องเป็นถนน ทล.หมายเลข 32 (สายเอเชีย) ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 150 กม. เนื่องจากเป็นถนนที่มีเกาะกลางหลายรูปแบบ ทั้งแบบร่องกลาง แบบแบริเออร์ตลอดแนวเส้นทางแบ่งช่องจราจรชัดเจน และรถใช้ความเร็วค่อนข้างสูง เพราะกว่า 85% ของความเร็วรถเฉลี่ยทั้งหมดอยู่ที่ 110-125 กม.ต่อชม. โดยเฉพาะช่องจราจรขวาสุด

ทั้งนี้ยังพบว่าการใช้ความเร็วดังกล่าวต้องปรับปรุงจุดกลับรถประมาณ 44 แห่ง ซึ่งบางแห่งอาจต้องปิดจุดกลับรถ 35 แห่ง นอกนั้นจะปรับเป็นทางลอดสำหรับรถขนาดเล็ก ซึ่งรถขนาดใหญ่ไปใช้สะพานกลับรถหรือสะพานบกที่ด้านล่างจะมีช่องลอดใต้สะพานได้ เบื้องต้นจะใช้งบประมาณปรับปรุงทั้งหมดไม่เกิน 600 ล้านบาท แบ่งเป็น ปรับปรุงจุดกลับรถประมาณ 400 ล้านบาท หรือแห่งละ 10 ล้านบาท ที่เหลืออีก 200 ล้านบาทจะติดตั้งด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น ปรับปรุงป้ายจราจร ตีเส้น เครื่องหมายจราจร และอุปกรณ์กั้นให้ความสมบูรณ์และเหมาะสม โดยงบประมาณที่นำมาดำเนินการจะขอตั้งงบประมาณในปี 2564 และใช้งบเหลือจ่ายในปีงบประมาณ 2563 ด้วย

ปัจจุบันถนนเส้นทางดังกล่าวได้ปรับปรุงขยายเป็น 6 ช่องทาง ไป 3 ช่องทาง กลับ 3 ช่องทาง โดยใช้แบริเออร์แบ่งช่องชัดเจน แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ช่วง 50 กม. แรก จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2563 หลังจากนั้นระยะที่ 2 อีก 100 กม. แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2564

ส่วนรูปแบบดำเนินการจะแบ่งการใช้ความเร็วเป็น 3 ระดับ คือ ช่องซ้ายสุด ไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. ช่องกลางไม่เกิน 100 กม.ต่อชม. และ ช่องขวาไม่เกิน 120 กม.ต่อชม. เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายสำหรับผู้ขับขี่ เดินรถได้อย่างสมดุลกัน และมีความปลอดภัย 100% อย่างไรก็ตามหากดำเนินการนำร่องใช้ความเร็ว 120 กม. ในถนนเส้นทางนี้ได้สำเร็จทำให้อนาคตถนนสายเอเชียจะไม่มีจุดกลับรถระดับพื้นราบทำให้มีความปลอดภัยที่ดีมาก และสามารถใช้เป็นต้นแบบปรับจุดกลับรถตามสภาพภูมิประเทศได้

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ส่วนการขยายผลการกำหนดความเร็ว 120 กม. ต่อ ชม. มาใช้กับเส้นทางอื่นๆ เช่น ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน, 2 ถนนมิตรภาพ, 3 ถนนสุขุมวิท และ 4 ถนนเพชรเกษม นั้น ตอนนี้มอบหมายให้สำนักงานสำรวจและออกแบบ, เขตทางหลวง และแขวงทางหลวงที่รับผิดชอบ ลงพื้นที่สำรวจถนนทั้ง 4 เส้นทาง เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงบางจุดที่ทำได้ก่อน แต่มีบางจุดที่ทำไม่ได้ เช่น ถนนสุขุมวิทมีหลายเส้นทาง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ระยอง ประชาชนต้องใช้พื้นที่สองข้างทางจำนวนมาก และถนนเพชรเกษม ดังนั้นอาจต้องต้องปรับสภาพถนนให้เรียบร้อยก่อน ขณะที่เส้นทางสายพหลโยธินและถนนมิตรภาพต้องสำรวจและหาแนวดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตามภายหลังได้ขอความร่วมมือดอนเมืองโทลเวย์ ปรับลดค่าผ่านทาง โดยจำหน่ายคูปองส่วนลด 5% ต่อเล่ม เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนไปแล้ว กรมทางหลวงยังมีแนวทางที่จะลดค่าผ่านทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์อีก 5% ซึ่งจะเป็นการลดเฉพาะในส่วนของผู้ใช้บัตร M-Pass, เครื่องส่วนหนึ่งนอกจากเป็นการช่วยลดภาระของผู้ใช้ทางแล้ว? ยังเป็นการจูงใจให้ประชาชนผู้ใช้ทาง หันมาใช้การชำระค่าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาจราจรหน้าด่าน