posttoday

ผุด TOD เมืองมรดกโลก ลงทุนหมื่นล้านบาทรับรถไฟไฮสปีดสองสาย

18 ตุลาคม 2562

สนข. ศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟจังหวัดอยุธยา กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองเก่า พื้นที่ 206 ไร่ ตามรอยเมืองโยโกฮาม่าญี่ปุ่นและสถานีกลางในฮ่องกง

สนข. ศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟจังหวัดอยุธยา กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองเก่า พื้นที่ 206 ไร่ ตามรอยเมืองโยโกฮาม่าญี่ปุ่นและสถานีกลางในฮ่องกง

นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เปิดเผยว่าสนข.ศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี (TOD) ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก พื้นที่ 206 ไร่ รอบสถานีรถไฟพระนครศรีอยุทธา

โดยมีทั้งชานชาลาของรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ และรถไฟความเร็วสูงสายอีสานช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็น TOD ขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับในเมืองโยโกฮาม่า ของญี่ปุ่น และ เช่นเดียวกันกับโมเดลที่พัฒนาสถานีกลางในประเทศฮ่องกง

สำหรับพื้นที่การพัฒนานั้นอยู่บริเวณรอบสถานีรถไฟหลักของจังหวัด แบ่งเป็นการพัฒนา 4 โซน ได้แก่

การพัฒนาโซนที่ 1 ย่านธุรกิจและพาณิชยกรรมแบบผสมผสาน (Mixed-Use Complex) ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานีรถไฟ จึงเหมาะสมกับการพัฒนาต่อยอดเป็นย่านพาณิชยกรรมแห่งใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่ธุรกิจการค้า และแหล่งการสร้างงาน ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อเนื่อง ตลอดทั้งวันเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุน สร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

จากปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีศูนย์การค้าปลีกระดับภูมิภาคเพียงแห่งเดียวซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่เมือง

โซนที่ 2 ย่านชุมชนการค้าแบบผสมผสาน (Mixed-Use Community) แนวคิดการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ผสมผสานกิจกรรมเชิงพาณิชย์และพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย เน้นการเข้าถึงพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชนหลักและระบบขนส่งมวลรองที่มีศักยภาพและครอบคลุม การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport) เช่น การเดิน การใช้จักรยาน

โซนที่ 3 ย่านชุมชนที่อยู่อาศัยคุณภาพ (Residential Cluster + Potential Education Campus) เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงการสร้างสรรค์พื้นที่เล่นและเรียนรู้ เป็นแหล่งให้ผู้คนได้พบปะ และ ทำกิจกรรมร่วมกันบนพื้นที่แหล่งใหม่ของเมือง

โซนที่ 4 ย่านที่อยู่อาศัยและรองรับการขยายตัวของเมือง (Extended Township Development) เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงการสร้างสรรค์พื้นที่เล่นเรียนรู้

นายเริงศักดิ์ กล่าวว่าสำหรับแนวทางการลงทุนนั้นรูปแบบที่เหมาะสม คือ รัฐบาลเป็นผู้จัดการเรื่องที่ดินและพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้าและประปาเป็นต้น ขณะที่เรื่องระบบขนส่งเชื่อมต่อพื้นที่รวมถึงการพัฒนาเชิงพ่ณิชย์มีความเหมาะสมที่จะเปิดประมูลแบบ PPP ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและรับความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา TOD ดังกล่าวจะทำให้มีดีมานด์ในการลงทุนคอนโดมิเนียมและอพาร์ทเมนต์ไม่เกิน 8 ชั้น สอดคล้องกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้นเพิ่มขึ้นอีกหากมีการพัฒนา รถไฟความเร็วสูง

เนื่องจากมีความต้องการที่อยู่อาศัยจากแรงงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อ หลีกหนีความแออัด และต้องการพื้นที่สงบ ทั้งยังพบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นโรงแรมรองรับ การประชุมระดับนานาชาติ และอุตสาหกรรมไมซ์ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงมากได้

เนื่องจากพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ในระยะที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งยังไม่มีผู้พัฒนามากจึงมีระดับการแข่งขันต่ำ

นายเริงศักดิ์ กล่าวต่อว่าพระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพหลายด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ปี 2560 สูงถึง 403,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 5 ของประเทศ ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 465,972 บาทต่อคนต่อ

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมซึ่งในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวสูงถึง 7,600,000 คน อัตราการเติบโต 5.2 % ต่อปีตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ตั้งพื้นที่เขตอุตสาหกรรม 5 แห่ง และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางบก ทางราง และทางน้ำ

รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างรถไฟฟ้าสายเหนือและสายอีสาน ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ TOD พระนครศรีอยุธยา คือ ภาครัฐต้องกำหนดกรอบนโยบายการลงทุน รูปแบบการสนับสนุน และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้มีความชัดเจน

การมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบ มีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคส่วนมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงการ และมีรูปแบบการลงทุนที่มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับลักษณะการพัฒนา TOD ในพื้นที่ และที่สำคัญคือต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าการลงทุนพัฒนาพื้นที่ TOD ดังกล่าวจะเป็นการลงทุนมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท บนพื้นที่ 206 ไร่ เนื่องจากมีแผนพัฒนาทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกผสมกับย่านการค้าขนาดใหญ่ ไปพร้อมกับโรงแรมและศูนย์ประชุมนานาชาติเพื่อรองรับอุตสาหกรรมไมซ์

นอกจากนี้ยังแผนลงทุนคอนโดมิเนี่ยมและที่อยู่อาศัยแบบไฮเอนด์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สนข.ได้ปักธงการพัฒนา TOD ต้นแบบไว้ 3 แห่ง ได้แก่ 1.จังหวัดนครศรีอยุธยา 2.สถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายอีสานพาดผ่านรวมถึงรถไฟทางคู่สายอีสานอีกทั้งยังเป็นเมืองสมาร์ทซิตีอี้กด้วย 3.พื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี ดอนเมือง-อู่ตะเภา เป็นอีกพื้นที่ศักยภาพที่จะเชื่อมต่อโลจิสติกส์และการเดินทางในพื้นที่อีอีซีอีกด้วย

ผุด TOD เมืองมรดกโลก ลงทุนหมื่นล้านบาทรับรถไฟไฮสปีดสองสาย

ผุด TOD เมืองมรดกโลก ลงทุนหมื่นล้านบาทรับรถไฟไฮสปีดสองสาย

ผุด TOD เมืองมรดกโลก ลงทุนหมื่นล้านบาทรับรถไฟไฮสปีดสองสาย

ผุด TOD เมืองมรดกโลก ลงทุนหมื่นล้านบาทรับรถไฟไฮสปีดสองสาย