posttoday

อดีตรมว.คลังส่งจม.ถึงบิ๊กตู่เตือนสัญญารถไฟความเร็วสูงอาจผิดกฎหมาย

01 ตุลาคม 2562

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายกฯ เตือนสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินอาจผิดกฎหมาย ทำรัฐต้องเสีย "ค่าโง่"

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายกฯ เตือนสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินอาจผิดกฎหมาย ทำรัฐต้องเสีย "ค่าโง่"

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 62 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เรื่อง "สัญญารถไฟความเร็วสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อาจผิดกฎหมาย" โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ แจ้งท่านว่าโครงการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินมีประเด็นที่อาจผิดกฎหมายหลายประเด็น แต่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยังมิได้ชี้แจงประเด็นต่อข้าพเจ้า นั้น บัดนี้ได้ปรากฎข่าวตามที่อ้างถึงว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่ามีบางเงื่อนไขที่ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เสียเปรียบ จึงเห็นจำเป็นต้องแจ้งแก่ท่านดังต่อไปนี้

ข้อ ๑. ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ ร.ฟ.ท. จากธุรกิจรถไฟความเร็วสูงไม่แน่นอน

๑.๑ ในโครงการนี้ เอกชนคู่สัญญาได้ประโยชน์สองด้าน คือ หนึ่ง กำไรจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่มักกะสันซึ่งอยู่ใจกลางกรุงเทพและมีความพร้อมจะทำการตลาด และ สอง กำไรจากธุรกิจรถไฟความเร็วสูง แต่สำหรับ ร.ฟ.ท. นั้น ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับส่วนแบ่งเฉพาะจากธุรกิจรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์หลายรายที่เล็งเห็นว่า ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจที่มีกำไรได้ทันที แต่ธุรกิจรถไฟความเร็วสูงนั้นมีแนวโน้มจะขาดทุน ประกอบกับการพัฒนาเฉพาะที่มักกะสันก็จะใช้วงเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงอาจมีแรงจูงใจที่เอกชนจะไม่เร่งรีบในการออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

ดังนั้น เงื่อนไขใดที่เปิดช่องให้เอกชนคู่สัญญาสามารถเริ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างรวดเร็วทันที แต่ไม่มีข้อบังคับให้เอกชนต้องเร่งรัดเริ่มการออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรณีเช่นนี้ ส่วนแบ่งที่ ร.ฟ.ท. จะได้จากธุรกิจรถไฟความเร็วสูงจึงอาจจะเลื่อนออกไป เงื่อนไขดังนี้จึงจะทำให้ ร.ฟ.ท. เสียเปรียบ อันจะเข้าข่ายเป็น “ค่าโง่”อย่างหนึ่ง เพียงแต่ไม่ใช่ “ค่าโง่”ที่จะรอให้เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องในศาล กลับจะเป็น “ค่าโง่” ที่จะเกิดขึ้นทันที

๑.๒ ในข่าวที่อ้างถึงระบุว่า ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสำคัญ

๑.๒.๑. กำหนดให้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เร็วที่สุดด้วยความเห็นชอบทั้ง ๒ ฝ่าย ก่อนนับเวลาการดำเนินโครงการ ซึ่งการออกหนังสือให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (Notice To Proceed) จะกระทำภายใน ๑ ปีนับแต่วันลงนามในสัญญา

๑.๒.๒. ให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม และไม่ให้เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่โครงการ

๑.๒.๓. ในกรณีที่ส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่ากำหนด ให้มีการชดเชยเอกชนคู่สัญญาด้วยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง โดยไม่มีการชดเชยเงินค่าเสียหายให้แก่เอกชนคู่สัญญา

๑.๓ เงื่อนไขที่ปรับปรุงดังกล่าว ถึงแม้มีวัตถุประสงค์จะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ ร.ฟ.ท. มากขึ้น โดยมีการกำหนดเวลาออกหนังสือให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (Notice To Proceed) ที่แน่นอนก็ตาม แต่เนื่องจากกรณีที่ ร.ฟ.ท. ส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่ากำหนด ให้มีการชดเชยเอกชนคู่สัญญาด้วยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้างได้ จึงเป็นช่องโหว่ที่เอกชนคู่สัญญาสามารถอ้างความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่เพื่อหาประโยชน์จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มักกะสันไปพลางก่อน

ดังนั้น เงื่อนไขที่จะชดเชยเอกชนคู่สัญญา แต่กรณีที่หากไม่มีการกำหนดชัดเจนว่า การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่ากำหนด ส่วนใด ประการใด จึงจะถือว่าเป็นปัญหาอุปสรรคจนถึงขั้นที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถเริ่มต้นกระบวนการออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ ตลอดจนเอกชนคู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องเตรียมการเพื่อการนี้ ด้วยการทำสัญญากับผู้ร่วมค้าที่จะทำธุรกิจรถไฟความเร็วสูง และทำการสั่งซื้อสิ่งของต่างๆ ไว้ให้พร้อมเป็นขั้นๆ นั้น ย่อมจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประโยชน์ของ ร.ฟ.ท. เลื่อนลอย และเกิดความเสียหาย ล่าช้า ต่อธุรกิจรถไฟความเร็วสูงได้

ข้อ ๒. ปัญหาในการส่งมอบพื้นที่

๒.๑ เนื่องจากพื้นที่ที่จะต้องส่งมอบมีผู้บุกรุกอยู่เป็นจำนวนมาก และตามร่างสัญญา ร.ฟ.ท. น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในการไล่ที่ แต่เมื่อผู้บุกรุกตระหนักถึงข้อจำกัดเรื่องเงื่อนเวลา จึงอาจมีผู้บุกรุกบางรายที่พยายามเจรจาต่อรองเพื่อค่าไล่ที่สูงกว่าปกติ ซึ่งถึงแม้จะได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขให้ ร.ฟ.ท. เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม และไม่ให้เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่โครงการก็ตาม แต่ไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันคุ้มครองผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ในอนาคต ที่จะต้องเป็นผู้อนุมัติจ่ายเงินค่าเยียวยาที่สูงเกินกว่าปกติธุรกิจดังกล่าว ดังนั้น กำหนดเวลาสำเร็จในการไล่ที่บุกรุกจึงมีความไม่แน่นอนสูง

๒.๒ สำหรับการเวนคืนที่ดินส่วนที่จะนำไปใช้เพื่อการสนับสนุนกิจการรถไฟนั้น กรณีที่เป็นพื้นที่ที่มิใช่แก่การเดินรถ แต่เป็นสัดส่วนที่เอกชนคู่สัญญาสามารถใช้ที่ดินเวนคืนเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ นั้น ก็อาจจะเกิดมีผู้ร้องเรียนได้ว่า เป็นการเวนคืนที่ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓๗ ซึ่งบัญญัติว่า

“การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น”

๒.๓ ถ้ามีความเสี่ยงล่าช้าจากสองปัจจัยข้างต้น ซึ่งจะทำให้การส่งมอบพื้นที่ล่าช้าออกไป และประกอบกับเงื่อนไขให้มีการชดเชยเอกชนคู่สัญญาด้วยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง โดยไม่มีกติกาที่ชัดเจน และไม่มีคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่ชี้ขาดให้เกิดความเป็นธรรมแก่ ร.ฟ.ท. จึงทำให้ร่างสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรมแก่ ร.ฟ.ท. และอาจจะเข้าข่ายเป็น “ค่าโง่” ที่กล่าวถึงข้างต้น

เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยร่างสัญญาต่อสาธารณะ รวมถึงความเป็นมาในการเจรจา เป็นการเร่งด่วนที่สุด

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาว่าการกระทำโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่