posttoday

น้ำมันโลกดิ่งฉุดเงินเฟ้อชะลอตัวโตแค่ 0.32% ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยง

01 ตุลาคม 2562

'พาณิชย์'ห่วงเศรษฐกิจไทยปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ลุ้นไตรมาส 4 เงินเฟ้อขยับ คาดสิ้นปียังอยู่ในกรอบ 0.7-1.0%

'พาณิชย์'ห่วงเศรษฐกิจไทยปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ลุ้นไตรมาส 4 เงินเฟ้อขยับ คาดสิ้นปียังอยู่ในกรอบ 0.7-1.0%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 0.32% ชะลอตัวต่อเนื่องค่อนข้างมากจาก 0.98% และ 0.52 %. ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ โดยสินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ในอัตราที่ชะลอตัว 5.11% โดยเฉพาะข้าวสาร และ ผักสด

ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยลดลง 6.39% ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่แม้จะเพิ่มขึ้นตามเหตุถล่มโรงกลั่นน้ำมันในตะวันออกกลาง แต่ยังต่ำกว่าราคาในปีที่แล้ว รวมทั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ได้ลดอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.44 % (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.49%) และเฉลี่ย 9 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.81%

การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ลดลง 1.9% และ 2.8% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของหมวดอุตสาหกรรม

"เงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันตลอดไตรมาสและขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดของไตรมาสที่ 3 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังขยายตัวสูง และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในลักษณะค่อนข้างทรงตัว โดยมีสัญญาณบวกจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายในประเทศกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 3 เดือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น ชี้ว่าเสถียรภาพด้านราคาสินค้าและบริการที่ไม่รวมพลังงาน ยังอยู่ในระดับทรงตัวและส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทาน "น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ทำให้ราคาสินค้าและบริการในปี 2562 น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ซึ่งต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สนค. คาดว่า เงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ 0.7-1.0%