posttoday

"ศักดิ์สยาม"เตรียมลดค่ามอเตอร์เวย์10%ให้คนใช้บัตรM-Pass

25 สิงหาคม 2562

รมว.คมนาคมเตรียม ลดค่ามอเตอร์เวย์ 10% ให้คนใช้บัตร หวังแก้รถติด ด้านสหภาพต้านค่าโง่ทางด่วน จับตาคมนาคมเคาะบทสรุป 26 ส.ค.นี้

รมว.คมนาคมเตรียม ลดค่ามอเตอร์เวย์ 10% ให้คนใช้บัตร หวังแก้รถติด ด้านสหภาพต้านค่าโง่ทางด่วน จับตาคมนาคมเคาะบทสรุป 26 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.62 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความแออัดทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) โดยต้องทดสอบในห้องปฏิบัติการ ก่อนนำข้อมูลมาประมวลผล โดยเบื้องต้นเตรียมลดอัตราค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 10% ให้กับผู้ใช้บัตรแทนเงินสด (M-Pass) ซึ่งปัจจุบันบัตรดังกล่าวสามารถใช้จ่ายค่าทางด่วน(Easy-Pass) ได้ด้วยในบัตรเดียวกัน หลังจากนี้จะหารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เร็วที่สุด ก่อนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งมีกำหนดการกรอบเวลาที่ต้องสรุปภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อหารูปแบบที่ดีที่สุด

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า จากสถิติพบว่า ประชาชนนิยมใช้บริการช่องเงินสด กว่า73% และใช้ช่องอัตโนมัติ หรือ M-PASS เพียง 27% เท่านั้น การลดราคาดังกล่าวจึงเป็นการจูงใจให้ประชาชนใช้เพิ่มขึ้นเพระสามารถแก้รถติดสะสมหน้าด่านได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหา ซึ่งจากสมมุติฐานการจำหน่ายคูปองล่วงหน้าสำหรับมอเตอร์เวย์ จากการทดลองวันนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่ช่อง M-pass ถือว่าดำเนินการได้ดีไม่พบปัญหา จึงมอบหมายให้กรมทางหลวง หาแนวทางจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการ M-PASS มากขึ้น

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่าสำหรับการลดอัตราค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์นั้นสามารถดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงได้เสนอสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว ในการขอใช้ค่าบริการ 2 อัตรา เพราะหากลดจะทำให้ค่าบริการต่างกัน ซึ่งหากกฤษฎีกาเห็นชอบสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากสำนักงานฤกษฎีกาตีความแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ กรมฯ จะขอแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

ด้าน นางสาวยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานฝ่ายวิชาการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวในวันที่ 26 ส.ค.นี้กระทรวงคมนาคมจะมีกานประชุมพิจารณาเรื่องค่าชดเชยทางด่วน ซึ่งสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอคัดค้าน เนื่องจากเหตุผลที่ถูกนำมากล่าวอ้างเพื่อเจรจาขยายสัญญาสัมปทาน ทางด่วน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจจะแพ้คดีและนำความเสี่ยงดังกล่าวมาเป็นเหตุผลในการเจรจาเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล โดยย้อนไปชี้ให้เห็นว่า เหตุผลที่ทำให้เกิดข้อพิพาทเพราะร่างสัญญาที่เห็นต่างกันหรือใช่ไม่ ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าใครทำให้เกิดค่าโง่

ดังนั้นต้องช่วยกันตรวจสอบว่าถ้าจะมีการเจรจาต่อรอง ผลประโยชน์เป็นของใคร ใครได้ใครเสียประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ และมองว่ากรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาเรื่องนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสรุปออกมาในแนวทางให้เดินหน้าต่อสัญญาสัมปทานอาจจะยังได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ในกรรมาธิการยังคงเห็นต่างหลายเรื่อง เช่น กรอบของการเจรจามีจริงหรือไม่ ซึ่งทางสหภาพยืนยันว่าวันนี้ตามข้อกฎหมายยังไม่มีอำนาจในการเจรจา

อย่างไรก็ตามสหภาพฯเสนอให้รัฐบาลชดเชย ตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งคือ 4,300 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจะต้องไม่นำผลจากคำสั่งดังกล่าวไปเป็นเงื่อนไขในการ อนุญาตให้ขยายสัญญาสัมปทานเพิ่มเติม