posttoday

ตะลึง!! กทม.เพิ่มเงื่อนไขส่วนแบ่งรายได้ 1 แสนล้านบาท แลกขยายสัมปทานบีทีเอส

09 สิงหาคม 2562

พร้อมสยบข่าวลือปิดดีลสายสีเขียวยันไม่ต่อสัญญาถึง 40 ปี คนใช้ลุ้นขึ้นสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ฟรีถึงสิ้นปี

พร้อมสยบข่าวลือปิดดีลสายสีเขียวยันไม่ต่อสัญญาถึง 40 ปี คนใช้ลุ้นขึ้นสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ฟรีถึงสิ้นปี

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าการเจรจาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสยังไม่จบ ตามที่มีกระแสข่าวออกมา เนื่องจากตอนนี้ยังไม่สามารถเจรจาเงื่อนไขกับทางบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แนวทางต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้อีกทั้งสองสัญญาสัมปทานเดินรถ

ได้แก่ สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสสายหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินนั้น และสัญญาสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่งและสะพานตากสิน-บางหว้า

สำหรับการเจรจาล่าสุดนั้นกทม.สรุปว่าคงต่อสัญญาสัมปทานถึง 40 ปีไม่ได้เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานไป อย่างไรก็ตามกทม.มีเงื่อนไขล่าสุดที่จะเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการขยายสัมปทาน คือ บีทีเอสต้องแบ่งรายได้ให้กับกทม.จำนวน 100,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทานที่ตกลงกัน

อย่างเช่น 30 ปี 2573-2602 โดยจะต้องจ่ายก้อนแรกทันทีตั้งแต่ปี 2573 จากนั้นจะต้องทยอยจ่ายจนครบแสนล้านบาท ส่วนรายละเอียดเรื่องวงเงินแต่ละงวดนั้นจะมีการเจราจากันอีกครั้งหนึ่ง เช่น การจ่ายก้อนแรกแล้ว ทยอยจ่ายปีละ 2,000 ล้านบาทเป็นต้น

พล.ต.อ. อัศวินกล่าวต่อว่า สำหรับการเจรจาขยาย 40 ปีนั้น ถ้าจะเป็นไปได้กทม.คงต้องขอเงินส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาทซึ่งเอกชนก็คงจะไม่ยอมจ่าย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเจรจาวงเงินดังกล่าวมาหลายครั้งแล้ว

โดยครั้งแรกสุด กทม.เสนอขอ 150,000 ล้านบาท จากนั้นก็เจรจาลดลงมาจนได้ตัวเลขสุดท้ายในขณะนี้ที่ 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้บีทีเอสยังต้องยึดเงื่อนไขเดิมที่เจรจาก่อนหน้านี้ไปด้วย ได้แก่ การรับภาระค่าโอนหนี้สินและทรัพย์สินของโครงการมูลค่า 1 แสนล้านบาท และข้อเสนอเรื่องราคาค่าโดยสารตลอดสายที่ไม่เกิน 65 บาท ตั้งแต่ช่วง คูคต-สมุทรปราการ หรือช่วงคูคต-บางหว้า และการคิดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว

อย่างไรก็ตามการคำนวณขอส่วนแบ่งในเงื่อนไขล่าสุดนั้นคิดจากตัวเลขรายได้ต่อปีของบีทีเอส จำนวนระยะเวลาสัมปทานรวมถึงตัวเลขการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคตเมื่อเปิดใช้ส่วนต่อขยายและรถไฟฟ้าสายต่างๆ

ทั้งนี้รายได้ของบริษัท 10 ปีย้อนหลังมีรายได้รวมทั้งสิ้น 146,914 ล้านบาท ส่วนด้านนโยบายจะให้ลดค่าโดยสารเหลือ 15-20 บาทตลอดสายนั้นคงจะยาก และรัฐจะต้องมาอุดหนุนหากจะดำเนินการจริง ซึ่งปัจจุบันบีทีเอสมีตั๋วเที่ยวที่ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวถูกอยู่แล้ว

“เจรจากันมาหลายรอบแล้ว เอกชนมองการลงทุนครั้งนี้แบบพ่อค้า แต่กทม.มองเรื่องนี้เพื่อประชาชน เชื่อว่าข้อเสนอแลกเปลี่ยนในครั้งนี้คุ้มค่าสำหรับเอกชนแน่นอนเพราะเขามีรายได้เยอะแล้ว เราก็ต้องยึดข้อเสนอนี้เพื่อให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปได้” พล.ต.อ. อัศวินกล่าว

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่ง ผู้บริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)กล่าวยืนยันว่าการเจรจาต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวตอนนี้ยังไม่จบ ขณะนี้ต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการเจรจาร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนสรุปผลแล้วค่อยมาสรุปผลกันอีกที

โดยเรื่องการให้สัมปทาน 30 ปีจะต้องให้ทางรัฐบาลเป็นผู้ให้ข้อมูลหากเจรจาแล้ว และมองว่าเป็นสิ่งที่ดีเป็นความจำเป็น ส่วนการเปิดเดินรถ 4 สถานีต่อจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ประกอบด้วย สถานีพหลโยธิน 24 สถานีรัชโยธิน สถานีเสนานิคม และ สถานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นั้นจะเปิดให้ใช้ฟรีไปจนถึงสิ้นปี 2562 หรือไม่นั้นจะพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนการเปิดเดินรถระหว่างแบริ่ง-สมุทรปราการ นั้นจะยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารจนกว่าจะเจรจาการต่อขยายสัมปทานเสร็จสิ้น