posttoday

ฝรั่งเศสทุบโต๊ะ ออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีรายได้ 3%จากธุรกิจดิจิทัลยักษ์ใหญ่

29 กรกฎาคม 2562

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เกาะติดฝรั่งเศสนำร่องออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้กับบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลขนาดใหญ่ ปิดช่องโหว่เลี่ยงภาษีบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ คาดปีนี้จะเก็บภาษีเข้ารัฐได้กว่า 14,000 ล้านบาท

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เกาะติดฝรั่งเศสนำร่องออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้กับบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลขนาดใหญ่ ปิดช่องโหว่เลี่ยงภาษีบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ คาดปีนี้จะเก็บภาษีเข้ารัฐได้กว่า 14,000 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 วุฒิสภาฝรั่งเศสมีมติเห็นชอบกฎหมายจัดเก็บภาษีรายได้กับบริษัทที่ให้บริการดิจิทัล หลังจากได้ผ่านความเห็นชอบกฎหมายดังกล่าวจากสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสแล้ว

โดยฝรั่งเศสถือเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีรายได้กับบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้สำเร็จ หลังจากที่หลายประเทศพยายามผลักดันแนวทางเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ แต่มีกลยุทธ์เลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลจากช่องว่างทางกฎหมาย ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งรายเล็ก

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้กับบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลของฝรั่งเศส จะเก็บภาษี 3% ของรายได้ของบริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจากกิจกรรมออนไลน์ในฝรั่งเศส เช่น โฆษณา การให้บริการข้อมูล และการขายข้อมูล เป็นต้น

โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีรวมกันทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 750 ล้านยูโร (25,000 ล้านบาท) และมีรายได้ในฝรั่งเศสอย่างน้อย 25 ล้านยูโร (900 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจการให้บริการด้านดิจิทัลกว่า 30 บริษัท เข้าเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติจากหลายสัญชาติ รวมถึงบริษัทของฝรั่งเศสด้วย

โดยกฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และเริ่มเก็บภาษีรอบแรกในเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งฝรั่งเศสประเมินว่าจะสามารถเก็บภาษีเข้ารัฐได้กว่า 400 ล้านยูโรหรือ 14,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ อังกฤษยังมีแผนจะเก็บภาษี 2% กับบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำรายได้ทั่วโลกอย่างน้อย 500 ล้านปอนด์ (19,000 ล้านบาท) ต่อปี และมีรายได้ในอังกฤษอย่างน้อย 25 ล้านปอนด์ (960 ล้านบาท) ต่อปี ในเดือนเมษายน 2563 ด้วย

นางอรมน เสริมว่า ขณะนี้หลายบริษัทข้ามชาติ อาทิ Google Apple Facebook และ Amazon ได้แสดงความกังวลต่อกฎหมายดังกล่าว และอาจขอให้รัฐบาลของตนมีมาตรการตอบโต้ หรือนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งปัจจุบันเรื่องการค้าดิจิทัลถือเป็นเรื่องใหม่ใน WTO และยังไม่มีกฎระเบียบดูแลเรื่องการค้าดิจิทัลที่ชัดเจนการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทใน WTO จึงต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ WTO แต่ WTO ก็จะพยายามจัดทำความตกลงเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์

สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ WTO โดยประเทศสมาชิกเห็นว่าไม่ควรมีการจำกัดสิทธิของรัฐในการออกมาตรการด้านภาษีภายในประเทศ อาทิ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งไทยอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน