posttoday

สุวิทย์ เตรียมดัน 4 นโยบายหลักเข้าครม. ผลักดันไทยสู่ 'ชาติสตาร์ทอัพ'

24 กรกฎาคม 2562

ปักหมุด กรุงเทพฯ เมืองสตาร์ทอัพดีที่สุดในเอเชีย ลั่น 4 ปีหน้า มูลค่าตลาดสตาร์ทอัพไทยแตะ 5 แสนล้านบาท

ปักหมุด กรุงเทพฯ เมืองสตาร์ทอัพดีที่สุดในเอเชีย ลั่น 4 ปีหน้า มูลค่าตลาดสตาร์ทอัพไทยแตะ 5 แสนล้านบาท

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงาน สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2019 (Startup Thailand 2019)ว่า อว. เตรียมผลักดัน 4 เรื่องเร่งด่วนด้านการกำกับดูแล เพื่อเสนอยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คือ 1.ฎหมายสตาร์ทอัพ (Starup Act.) 2.กฎหมายแซนด์บ็อกซ (Sandbox Act.) 3.กฎหมายเบยห์-โดล(Bayh-Dole Act)

และเรื่องที่4.กองทุนสำหรับสตาร์ทอัพในมหาวิทยาลัย (University Fund) เพื่อสนับสนุนทุนให้กับนักศึกษาระดับยอุดมศึกษาที่สนใจเป็นสตาร์ทอัพ ในช่วงระหว่างที่ยังศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยกองทุนดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าจะมาจากทั้งภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนร่วมกับภาครัฐ หรือสามารถแปลงได้จากกองทุนกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีเงินทุนสนับสนุนอยู่ที่ประมาณกว่า2 พันล้านบาท

ขณะที่นโยบายดังกล่าวเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศน์ (Eco System)ของสตาร์ทอัพไทยให้พัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเฉพาะการสนับสนุนนักศึกษามหาวิทยาลัยที่สนใจเป็นสตาร์ทอัพ เบื้องต้นหากมีโครงการน่าสนใจก็จะได้รับเงินติดปลายนวม ตั้งแต่2-5 หมื่นบาท เพื่อพัฒนาธุรกิจ ได้ทันที

"นักศึกษากลุ่มนี้ยังสามารถออกมาทำธุรกิจของตัวเองได้ทันที แม้ว่าจะยังศึกษาอยู่ในปี3 หรือ ปี4 ซึ่งต่อไปอาจไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็เป็นไปได้ในอนาคต" นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวเสริมว่าการจัดงาน สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2019 ถือเป็นการปักหมุดประเทศไทยสู่การเป็น 'สตาร์ทอัพ เนชัน' หรือชาติสตาร์ทอัพ อย่างแท้จริง จากความต่อเนื่องการจัดงานฯดังกล่าวตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยใช้นวัตกรรมจากกองทัพสตาร์ทอัพไทย เพื่อใช้เป็นทางรอดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (ดิสรัปชัน) ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังจะผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยในเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้คอนเซ็ปท์ MAR Tech ประกอบด้วย M=Music ดนตรี A=Art ศิลปะ และ R=Recreation นันทนาการ นับจากนี้ไป

รวมถึงการสร้างดีพเทค ให้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกเชน และมหาวิทยาลัย พร้อมใช้ระเบียงนวัตกรรมกรุงเทพ (Bangkok Innovation Corridor)ทั้ง 9 แห่งซึ่งมีจุดเด่นนวัตกรรมแตกต่างกันให้เชื่อมโยงกันได้ เพื่อผลักดันให้ กรุงเทพฯเป็นเมืองด้านนวัตกรรมสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

โดยการจัดงานฯ ในปีนี้ มีสิ่้งที่แตกต่างจากที่ผ่านมา คือ กระทรวงที่รับผิดชอบได้เปลี่ยนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดิม มาเป็น อว. ซึ่งจะทำให้สายป่านหรือห่วงโซ่มูลค่าของสตาร์ทอัพยาวขึ้น โดยมีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดกว่า 500 รายจากทั่วโลกเข้ามาร่วมงานฯในปีนี้

โดยปัจจุบันมีสตาร์ทอัพมากกว่า 2,200 รายและมีพันธมิตรกว่า 33 ประเทศทั่วโลก และมีมูลค่าทรัพย์สินทางการตลาด (มาร์เก็ต แคป) กว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าจากเวนเจอร์ แคปิตอล(วีซี ฟันด์) กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในอีก4 ปีข้างหน้ามูลค่ามาร์เก็ตแคป จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท