posttoday

ส่งออกเอาไม่อยู่ !! วูบต่อเดือนที่ 4 ติดลบ2.15% "จุรินทร์"ตั้งด่วนกรอ.พาณิชย์เกาะติดสถานการณ์

22 กรกฎาคม 2562

"พาณิชย์"เผยส่งออก มิ.ย.ติดลบ2.15% จากปัญหาสงครามการค้า ฉุดภาพรวม 6 เดือนแรกส่งออกไทยติดลบ 2.91 % "จุรินทร์"สั่งตั้งกรอ.พาณิชย์ พยุงส่งออกครึ่งปีหลัง

"พาณิชย์"เผยส่งออก มิ.ย.ติดลบ2.15% จากปัญหาสงครามการค้า ฉุดภาพรวม 6 เดือนแรกส่งออกไทยติดลบ 2.91 % "จุรินทร์"สั่งตั้งกรอ.พาณิชย์ พยุงส่งออกครึ่งปีหลัง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศ เดือนมิ.ย. ว่า การส่งออก มีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวลดลง 2.15% เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ติดลบถึง 6.20% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน เป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับความพยายามในการเจรจาแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ข้อเสนอดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ความขัดแย้งของประเทศคู้ค่าอื่นๆ ยังเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น

ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.4% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 6 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 122,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 2.9% การนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2.4% และการค้าเกินดุล 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่าลดลง 9% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่สินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 11.8% ในตลาดจีน สหรัฐฯ อินเดีย ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เครื่องดื่ม ขยายตัว 2.8% ขยายตัวในตลาดกัมพูชา จีน ลาว สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่วนสินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ลดลง 34.6% ในตลาดเบนิน แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และจีน โดยรวม 6 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตร ขยายตัวลดลง 2.2%

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 ซึ่งในระยะเร่งด่วน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น

นอกจากนี้ จะใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศนำสินค้าไทยเข้าไปด้วย และกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ โดยขยายโอกาสการส่งออกในตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ และอินเดีย และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น แคนาดา รวมทั้งเร่งขยายความร่วมมือและเจรจาความตกลงทางการค้า การรักษามาตรฐานสินค้า ขยายช่องทางการขายสู่ออนไลน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดัน

อย่างไรก็ตามในช่วง6 เดือนหลังของปีนี้ หากตัวเลขการส่งออกอยู่ที่เฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยยังมีโอกาสที่การส่งออกจะขยายตัวเป็นบวก 1-2% แม้เป้าการส่งออกจะตั้งไว้ที่ 3 % ดังนั้นถ้าไม่มีปัญหาเพิ่มเติมการส่งออกจะขยายตัวเพิ่ม 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังมีโอกาสที่การส่งออกจะได้ตามเป้าหมายอยู่