posttoday

ผู้รับเหมาช่วง ไม่จ่ายค่าจ้างคนงาน ผู้รับเหมาหลักต้องจ่ายแทน

16 กรกฎาคม 2562

คอลัมน์ นักกฎหมายโครงการ

คอลัมน์ นักกฎหมายโครงการ

โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ

กฎหมายคุ้มครองแรงงานเอาผิดกับผู้รับจ้างชั้นต้น ในโครงการก่อสร้าง กรณีที่ผู้รับจ้างช่วงไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานก่อสร้าง ผู้รับจ้างชั้นต้นจะอ้างว่าคนงานเหล่านั้นไม่ใช่ลูกจ้างของตนไม่ได้ และความรับผิดทางกฎหมายของผู้รับจ้างชั้นต้นนี้ เป็นความรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมกับผู้รับจ้างช่วง ไม่ว่าจะมีผู้รับจ้างช่วงกี่ทอดก็ตาม หากผู้รับจ้างชั้นต้นจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานไปแล้ว ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาเงินที่จ่ายไปคืนจากผู้รับจ้างช่วงที่เป็นนายจ้างได้ แต่ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้รับจ้างช่วงรายอื่น ที่ไม่ใช่นายจ้าง

กฎหมายข้อนี้คนในวงการก่อสร้าง ไม่ค่อยทราบกัน โดยมากมักจะเข้าใจว่า ลูกจ้างใครก็ลูกจ้างมัน รับผิดชอบกันเอาเอง ตามหลักสามัญสำนึกทั่วๆไป มีน้อยรายที่จะทราบว่า มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้รับเหมาหลัก ต้องไปรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของบริษัทอื่น ที่เป็นผู้รับเหมาช่วงของตนด้วย เป็นกฎหมายพิเศษ เพื่อการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง

ผู้รับเหมาชั้นต้นต้องจ่ายดอกเบี้ย 60% ต่อปีด้วย

ความรับผิดตามกฎหมายของผู้รับจ้างชั้นต้นนี้ ไม่จำกัดอยู่เพียงคนงานก่อสร้าง แต่ยังขยายครอบคลุมไปถึง ลูกจ้างของผู้รับจ้างช่วงทั่วไปที่อยู่ประจำสำนักงานของผู้รับจ้างช่วง ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการก่อสร้างด้วย ไม่แต่เฉพาะค่าจ้างเท่านั้น ที่ผู้รับจ้างชั้นต้นต้องเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับจ้างช่วง แต่ยังรวมถึง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชยในการเลิกจ้าง ค่าชดเชยพิเศษเท่าค่าชดเชยปกติในกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการโดยลูกจ้างไม่ยินยอมและลาออก

ค่าชดเชยพิเศษ30 วัน กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ค่าชดเชยพิเศษ 60 วัน นอกเหนือไปจากค่าชดเชยปกติกรณีเลิกจ้าง เนื่องมาจากนายจ้างใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนงานแล้วไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 60 วัน เงินสะสม 5% ของค่าจ้างที่นายจ้างหักจากค่าจ้างเพื่อจ่ายเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เงินสมทบ 5% ที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และเงินเพิ่ม คือดอกเบี้ย ร้อยละ 60% ต่อปี

กรณีที่นายจ้างไม่ส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ถ้าผู้รับจ้างช่วงก็ไม่จ่าย และผู้รับจ้างชั้นต้น ก็ไม่จ่าย ลูกจ้างย่อมไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานให้สอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้ทั้งผู้รับจ้างช่วงและผู้รับจ้างชั้นต้นจ่ายเงินได้ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานก็มีอำนาจฟ้องทั้งผู้รับจ้างช่วง และผู้รับจ้างชั้นต้นเป็นคดีความต่อศาลด้วย

ผู้ว่าจ้างเพิกเฉย ไม่อนุมัติผู้รับจ้างช่วง ถือว่าสละสิทธิ

สัญญารับจ้างก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีข้อความกำหนดว่า การที่ผู้รับจ้างชั้นต้น จะเอางานบางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำ ต้องได้รับคำอนุมัติจากผู้ว่าจ้างก่อนเป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นถือว่าผู้รับจ้างชั้นต้นผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาได้ โดยสัญญารับจ้างก่อสร้างภาคเอกชนควรระบุชัดว่า เอางานเฉพาะบางส่วนออกให้ผู้อื่นรับจ้างช่วงได้ หรือเอาเงานทั้งหมดไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ระบุชัด ผู้รับจ้างชั้นต้น ย่อมเอางานทั้งหมดไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำได้แม้ว่าจะต้องได้รับอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้างอีกชั้นหนึ่งก่อน

ส่วนสัญญารับจ้างก่อสร้างภาครัฐ เป็นที่ชัดเจนว่า ผู้รับจ้างไม่สามารถเอางานทั้งหมดไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำได้ ได้แต่เพียงงานบางส่วน และต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน มีคำพิพากษาฎีกาหลายปีมาแล้วตัดสินว่า สัญญาระบุให้ต้องขออนุมัติจากผู้ว่าจ้างไว้อย่างนั้นก็จริง แต่ถ้าผู้รับจ้างกระทำฝ่าฝืนสัญญาโดยจ้างผู้รับจ้างช่วง โดยไม่ได้ขอคำอนุมัติจากผู้ว่าจ้างก่อน ซึ่งก็ถือว่าผู้รับจ้างชั้นต้นผิดสัญญา

แต่หากผู้ว่าจ้างทราบแล้วถึงการผิดสัญญาในข้อนี้ แต่ก็ไม่ทักท้วง และไม่ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญา กลับปล่อยให้ผู้รับจ้างชั้นต้น และผู้รับจ้างช่วง ทำงานจนแล้วเสร็จ จึงยกเหตุผิดสัญญานี้ขึ้นมาเป็นเหตุผลที่จะเรียกค่าเสียหายโดยหักเอาจากค่าจ้างที่ค้างชำระ อย่างนี้ผู้ว่าจ้างทำไม่ได้ ถือว่าผู้ว่าจ้างสละสิทธิที่จะเรียกร้องเอาจากผู้รับจ้างชั้นต้นถึงเหตุผิดสัญญานี้ไปแล้ว

ผู้ว่าจ้างสละสิทธิ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือเสมอไปก็ได้

สัญญารับจ้างก่อสร้างสมัยใหม่ มักจะมีข้อความว่า การสละสิทธิใดๆทั้งปวงตามสัญญา คู่สัญญาต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอ มิฉะนั้น จะไม่ถือว่ามีการสละสิทธิ คำพิพากษาฎีกาฉบับข้างต้น เป็นหลักฐานยืนยันว่า การสละสิทธิตามสัญญาของผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องทำเป็นหนังสือก็ได้ เพียงแต่มีพฤติกรรมของผู้ว่าจ้าง ทำให้เห็นว่า การที่ผู้รับจ้างเอางานบางส่วนออกให้ผู้รับจ้างช่วงทำ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ว่าจ้างตามสัญญาก่อน โดยผู้ว่าจ้างเพิกเฉยเสีย มิได้ว่ากล่าวตักเตือน และมิได้ใช้สิทธิเลิกสัญญา ก็ถือได้แล้วว่า ผู้ว่าจ้าง สละสิทธิ ไม่ถือว่าการผิดสัญญาในข้อนี้โดยผู้รับจ้างชั้นต้นเป็นสาระสำคัญที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้


ผู้รับจ้างช่วงทำผิดกฎหมาย ผู้รับจ้างหลักต้องรับผิดร่วมหรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้กว้างๆว่า ผู้รับจ้างต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆของผู้รับจ้างช่วง นักกฎหมายส่วนใหญ่ตีความกฎหมายในข้อนี้อย่างแคบให้หมายความถึงเฉพาะความรับผิดของผู้รับจ้างชั้นต้นต่อผู้ว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งแม้จะไม่มีการตีความ ความรับผิดดังกล่าวก็ค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งตามสัญญาและกฎหมาย

ที่เป็นประเด็นปัญหาคือ หากผู้รับจ้างช่วงก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอก เช่นกรณีที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ได้แก่การที่ผู้รับจ้างช่วงทำของหนักหล่นลงสู่พื้นที่ไซต์งานก่อสร้าง หรือ การที่เครนก่อสร้างของผู้รับจ้างช่วง ถูกพายุพัดล้มลง หรือยกของหนักเกินอัตราทำให้แขนเครนก่อสร้างหัก ของหล่นมายังพื้น ผู้รับจ้างชั้นต้นจะต้องรับผิดร่วมกับผู้รับจ้างช่วง หรือไม่

ทั้งต่อบุคคลภายนอกผู้เสียหาย และบริษัทประกันภัยและบริษัทประกันชีวิต ที่ต้องไล่เบี้ยเอากับคนที่กระทำความผิด ตลอดจนความผิดทางอาญาต่างๆ นอกเหนือไปจากความรับผิดในทางแพ่ง

ประเด็นเรื่องผู้รับจ้างชั้นต้น จะต้องรับผิดแทน หรือรับผิดร่วมกับ ผู้รับจ้างช่วง อย่างไร หรือไม่ นอกเหนือไปจากเรื่องค่าจ้างคนงาน เหล่านี้ ยังไม่มีความชัดเจนใดๆในทางกฎหมาย จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ออกมาบัญญัติให้ชัดเจน หรือมีคดีขึ้นสู่การตัดสินของศาลสูง

(วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมาย บลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ [email protected])