posttoday

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ – EEC ดีอย่างไร

16 พฤษภาคม 2562

SEZ กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC สร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากน้อยเพียงใด และเอื้อประโยชน์ให้นายทุนจริงหรือไม่นั้น วันนี้ บีโอไอมีคำตอบ

 

เนื่องจากมีผู้สงสัยและไม่แน่ใจว่าการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC สร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากน้อยเพียงใด และเอื้อประโยชน์ให้นายทุนจริงหรือไม่นั้น วันนี้ บีโอไอมีคำตอบ

ทำไมต้องมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ ประเทศไทยมีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำ ยังจำเป็นต้องมีการสร้างกิจกรรมพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนั้น นโยบาย SEZ จึงเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน เชื่อมโยงการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวชายแดน โดยคำนึงถึงศักยภาพและความต้องการประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

รัฐบาลจึงได้ประกาศกำหนดพื้นที่บางส่วนของ 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส ให้เป็น SEZ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) โดยมีการบูรณาการความร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งทำงานใกล้ชิดร่วมกับภาคเอกชน

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ – EEC ดีอย่างไร

เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ SEZ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้กำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์เป็นการเฉพาะ หากเป็นกิจการใน 13 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีกว่า 70 ประเภทกิจการ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนเพิ่มเติม 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับกิจการอื่นๆ ที่อยู่ในบัญชีที่บีโอไอให้ส่งเสริม จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 8 ปี หรือในกรณีได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีแล้ว จะลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้นำบางประเภทกิจการที่ได้เคยยกเลิกให้การส่งเสริมไปแล้วกลับมาให้การส่งเสริมใหม่แต่กำหนดว่าต้องอยู่ในพื้นที่ SEZ เท่านั้น เช่น กิจการผลิตสบู่ ยาสระผม เครื่องสำอาง พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น  โดยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี อีกทั้ง บีโอไอยังได้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้กับกิจการ SMEs เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในท้องถิ่น สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ง่ายขึ้นเพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทรัพยากรในท้องถิ่นอีกด้วย

พร้อมทั้งมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติในลักษณะเดียวกับที่ให้แก่โครงการในพื้นที่อื่น เช่น การถือครองที่ดินสำหรับที่ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริม  

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ SEZ – EEC ดีอย่างไร

สำหรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้นถือเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มุ่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ อีกทั้งชายฝั่งทะเลภาคตะวันเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและเป็นศูนย์กลางของหลากหลายอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์

การให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC นั้นจะแตกต่างกันตามประเภทกิจการและพื้นที่ เนื่องจากรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ แม้ว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฉบับปัจจุบันจะกำหนดให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สูงสุดไม่เกิน 13 ปี แต่เฉพาะกิจการที่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและต้องเป็นกิจการที่มีความพิเศษอย่างยิ่ง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาเทคโนโลยี Advanced Material ซึ่งต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดและมีการวิจัยพัฒนา รวมทั้งความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 13 ปี มิใช่การให้สิทธิประโยชน์แก่กิจการผลิตทั่วไปหรือกิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วไป

นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ยังมีเงื่อนไขที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยิ่งคือโครงการที่จะได้รับสิทธิเพิ่มเติมจะต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามจำนวนที่กำหนด เพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC และ SEZ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประเทศก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ยกระดับรายได้ของประชาชนในท้องถิ่น และพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ “ประเทศไทย 4.0”