posttoday

แรงงานด้านดูแลสุขภาพเนื้อหอม! สังคมสูงอายุในไทยทำความต้องการพุ่ง

28 มีนาคม 2562

"เคพีเอ็มจี" ชี้อายุประชากรของไทยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการแรงงานด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น

"เคพีเอ็มจี" ชี้อายุประชากรของไทยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการแรงงานด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น

เคพีเอ็มจี บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบบัญชี ภาษี และการให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพ เปิดเผยว่า การดูแลสุขภาพ (healthcare) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคาดว่ามีมูลค่ารวมมากกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตามอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่สูงขึ้นและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้หลายๆ ประเทศต้องคำนึงถึงความสามารถในการรองรับด้านการดูแลสุขภาพ และจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพที่สามารถรองรับประชากรของประเทศได้ โดยเฉพาะในบรรดาประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ดร. มาร์ค บริตเนล ประธานฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานของเคพีเอ็มจี กล่าวว่า จะมีการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ถึง 18 ล้านคนภายในปีพ.ศ. 2573 ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทั่วโลก ทั้งนี้บุคลากรดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุไม่พอ และถ้าไม่มีการแก้ไขโดยเร็ว จะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงในวงกว้างทั่วโลก

"จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและจำนวนของเด็กและเยาวชนที่ลดลงจะทำให้แต่ละประเทศเผชิญกับภาระและความท้าทายในการดูแลสุขภาพในการรองรับประชากร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ"ดร.บริตเนลกล่าว

เขาระบุอีกว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร ในขณะเดียวกันจำนวนเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี คิดเป็นเพียงร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และอัตรานี้ยังคงลดลง ร้อยละ 2 ในแต่ละปี

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ถูกคาดคะเนว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ในปี พ.ศ. 2574 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากร และจะเป็นสังคมอุดมไปด้วยผู้สูงอายุ (super-aged society) ในปี พ.ศ. 2593 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 30 ของประชากร

ทั้งนี้ประเทศไทยที่เป็นประเทศรายได้ปานกลาง และประเทศกำลังพัฒนา จะประเทศแรกที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งลักษณะทางเศรษฐกิจนี้จะทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และการดูแลและรองรับผู้สูงอายุ

"การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของทศวรรษถัดไป ขณะที่การแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการเพิ่มจำนวนบุคลากรเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายเกินไป เราจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในวงกว้างและมีผลกระทบมากกว่านี้ ถ้าเรามีระบบการแก้ปัญหาที่ดี เราจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพได้มากขึ้นถึงร้อยละ 20 เพื่อมาอุดช่องโหวของการขาดบุคคลากร"ผู้เชี่ยวชาญจากเคพีเอ็มจีระบุ

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้วางแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงความสามารถในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่ดีและเป็นมิตร มีสวัสดิการและได้รับการบริการที่เหมาะสม มีชีวิตที่มีคุณค่า และสามารถเข้าถึงข้อมูล และข่าวสารได้

เขาแนะนำว่า มาตรการที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องพิจารณาคือการใช้นวัตกรรมทางดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและรักษาสุขภาพ และเพิ่มผลิตภาพในด้านอื่นๆ รวมถึงพิจารณารูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่นอกเหนือจากรูปแบบดั้งเดิม

"เราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรทางการดูแลสุขภาพ ในอนาคตได้ถ้าเรามีมุมมองใหม่ๆ ในด้านผลิตภาพของการดูแลสุขภาพ ถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้การรักษาพยาบาล เปลี่ยนนโยบายการลงทุนด้านการดูแลสุขภาพ ของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการด้านการดูแลสุขภาพ ของผู้ป่วยเอง และนำเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้" ดร.บริตเนลระบุ

ภาพ เอเอฟพี