posttoday

เร่งแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างรวย-จน

02 มีนาคม 2562

สศช.เผยช่วง10ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

สศช.เผยช่วง10ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

นาย ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ได้จัดทำรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยค่าความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายได้ลดลงจาก 0.514 ในปี 2549 มาอยู่ที่ 0.453 ในปี 2560 ซึ่งยังเป็นค่าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

ขณะที่เมื่อนำรายได้ของประชากรมาจัดลำดับเป็น 10 กลุ่มรายได้ พบว่า ข้อมูล ณ ปี 2560 กลุ่มของประชากรที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 35.3% แต่ประชากรในกลุ่ม 40% ที่มีรายได้ต่ำที่สุดมีส่วนแบ่งรายได้เพียง 14.2% เท่านั้น สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศไทยที่ยังคงสูงมากในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากดูในเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินและการถือครองที่ดินพบว่า กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยข้อมูลในปี 2561 บัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไปมีเพียง 111,517 บัญชี หรือคิดเป็นแค่ 0.1% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากรวมกันกว่า 52.8% ของเงินฝากทั้งหมด

ขณะที่เงินฝากของคนทั่วไปมีจำนวนรวมกันกว่า 84 ล้านบัญชี คิดเป็น 99.9% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากเพียง 47.2% ของเงินฝากทั้งหมด เช่นเดียวกับข้อมูลการถือครองที่ดิน พบว่าประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% ถือครองที่ดิน 94.86 ล้านไร่ คิดเป็น 61.5% ขณะที่ประชาชนที่ยากจนที่สุด 10% ของประเทศถือครองที่ดินรวมกันเพียง 68,330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 0.1% หรือแตกต่างกันกว่า 853.6 เท่า

สำหรับนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายด้าน เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น การปรับโครงสร้างราคาสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงการจัดสรรที่ดินทำกิน

แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมมากกว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การเพิ่มมาตรการในการยกระดับรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรกลุ่มเป้าหมาย 40% ที่มีรายได้น้อยที่สุด การมีนโยบายการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินพิจารณาการจัดเก็บภาษีกำไรส่วนเกินทุน ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนปรับการจัดสรรงบประมาณเชิงบูรณาการและเชิงพื้นที่ที่มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำควบคู่กับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ รวมถึงกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ เช่น การเพิ่มมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม การสร้างกลไกแก้ปัญหาความยากจนและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างบูรณาการ