posttoday

"สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" ปั้นเครือข่ายธุรกิจหมื่นล้าน

24 กุมภาพันธ์ 2562

ทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง "เฮียฮ้อ" หรือ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ บอสใหญ่แห่งอาร์เอสมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีทั้งวิกฤตและโอกาสใหม่ๆเสมอ สิ่งสำคัญคือต้องมองให้เห็นแล้วคิดต่อว่าจะปรับตัวอย่างไร

ทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง "เฮียฮ้อ" หรือ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ บอสใหญ่แห่งอาร์เอสมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีทั้งวิกฤตและโอกาสใหม่ๆเสมอ สิ่งสำคัญคือต้องมองให้เห็นแล้วคิดต่อว่าจะปรับตัวอย่างไร

****************************

โดย...วารุณี อินวันนา

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ได้ปฏิวัติพฤติกรรมลูกค้า ทำให้ธุรกิจที่ไม่สามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป ถูกทำลายล้างไปทีละราย

รวมถึงธุรกิจสื่อ ธุรกิจค่ายเพลง ที่กำลังถูกเทคโนโลยีใหม่ๆ แทรกเข้ามาดึงรายได้ออกไปอย่างรวดเร็ว ฐานะทางการเงินไหลรูดจนไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจุดต่ำสุดอยู่ตรงไหน

ดั่งอยู่ท่ามกลางหมอกควันที่ปกคลุม ฝุ่นตลบ หายใจไม่ออกจนล้มหายตายจากกันไปหลายราย แต่บริษัท อาร์เอส (RS) กลับส่องสว่างจ้า หนีออกจากวิกฤต มาเดินเฉิดฉายบนถนนสายใหม่ที่มีอนาคตสดใสกว่าเดิม

ภายใต้การนำของ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส ที่เรียกกันจนติดปากว่า เฮียฮ้อ ผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและไม่ยอมเป็นผู้ถูกล่า สามารถพลิกองค์กรเข้าสู่ธุรกิจใหม่ได้สำเร็จ

สุรชัย กล่าวว่า เป้าหมายใหญ่และเป้าหมายใหม่ในระยะยาวคือ การปั้นให้บริษัทอาร์เอสเป็นเครือข่ายธุรกิจ ภายใต้แนวคิดการเป็นห้างสรรพสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน มีสินค้าและธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อสร้างความมั่นคงและทนทานกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ที่เกิดขึ้นเร็วและจะแรงขึ้น โดยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

หากมีหลายธุรกิจ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน เกิดการทำลายล้าง หรือถูกดิสรัป ในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในมือ ก็ยังมีธุรกิจอื่นเข้ามาช่วย หากทำสำเร็จ ภาพของบริษัท อาร์เอส จะไม่ใช่บริษัทที่ทำธุรกิจบันเทิง หรือบริษัทที่ทำธุรกิจทีวี สื่อ หรือเป็นธุรกิจค้าปลีก แต่เป็นเครือข่ายธุรกิจ

“เราทำการมองหาธุรกิจใหม่ๆ จากโอกาสระหว่างการทำธุรกิจที่มีอยู่ในมือ 3 ธุรกิจ โดยไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะทำธุรกิจอะไร แต่ระหว่างทางเจออะไรที่น่าทำก็ศึกษาและเริ่มทำทันที จึงไม่สามารถบอกได้ว่าต่อไปจะมีธุรกิจอะไรเข้ามาเพิ่มอีก” สุรชัย อธิบาย

สุรชัย กล่าวว่า วันนี้บริษัท อาร์เอส ถือว่าทรานส์ฟอร์มองค์กรสำเร็จ จากผู้ผลิตเพลง เข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก เห็นได้จากรายได้ของบริษัทปัจจุบัน 60% มาจากธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน และกำลังจะเข้าปีที่ 5 ในปีนี้

ขณะที่ธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ทำมาตลอด 37 ปี และเคยทำรายได้หลักให้บริษัทยังคงอยู่รอด เพียงแต่สัดส่วนรายได้ลดลงเหลือเพียง 15% น้อยกว่าธุรกิจสื่อ หรือมีเดีย ที่เข้ามาชิมลางในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วิทยุ ทีวีดาวเทียม และล่าสุดทีวีดิจิทัลที่เริ่มทำเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ทำรายได้รวม 35%

การทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ธุรกิจใหม่ เป็นการใช้ทีมงานเดิมทั้งหมด ไม่มีการซื้อคนนอก จะไม่มีกรอบเก่าๆ ถูกครอบงำ ทุกคนเรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ๆ ที่ทดลองทำ เรียนรู้ความผิดพลาดไปด้วยกัน โดยมีลูกค้าเป็นผู้ยืนยันว่าสิ่งที่บริษัททำนั้นถูกต้องหรือทำผิด การที่รายได้ของธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นการพิสูจน์ชัดว่าการคิดและการทำถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม สุรชัย มองว่าในมุมของธุรกิจใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น และเข้าสู่ยุคของการปลุกปั้นอนาคตใหม่นี้ให้เติบโตทั้งในแนวตั้งด้วยการขยาย 3 ธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน และแนวราบ คือ การควบรวม หรือซื้อกิจการ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเข้ามาเสริม และได้วางแผนธุรกิจไว้ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะกลาง แต่ไม่ได้วางแผนระยะยาวไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เริ่มจากแผนระยะกลาง 3-5 ปีนับจากนี้ รายได้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดติดต่อกัน โดยปี 2565 ยอดขายจะต้องแตะ 1 หมื่นล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญ 2 เรื่อง คือ

หนึ่ง ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ไม่มีหน้าร้าน เป็นรูปแบบการทำธุรกิจแนวใหม่ที่ยังไม่มีใครทำรูปแบบนี้

สอง เป็นการทำธุรกิจจากการที่มีฐานข้อมูลสะสม เป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังทำ และเป็นข้อพิสูจน์ว่าการมีฐานข้อมูลที่ใหญ่คือขุมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ซื้อสินค้าบริษัท 1.1 ล้านคน ที่มีเบอร์โทรศัพท์ทุกคนอยู่ในมือ

“ได้สื่อสารกับทีมบริหารเรียบร้อยแล้วถึงจังหวะในการก้าว และวิธีการเดินที่จะไปเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย” สุรชัย กล่าว

ขณะที่แผนระยะสั้น ปี 2562 เป็นปีที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจตลอด 37 ปีของอาร์เอส เพราะเป็นปีที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกอย่างสมบูรณ์แบบ จะมีการขอย้ายหุ้นจากกลุ่มธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่ธุรกิจพาณิชย์ คาดว่าน่าจะเสร็จในไตรมาส 2 ของปีนี้

รวมถึงตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 5,000 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่เป็นปีที่ 2 ต่อจากปี 2561 ที่ผ่านมา และกำไรก็จะทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ โดยจะมาจากธุรกิจพาณิชย์ 60% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ด้วยการออกสินค้าใหม่ 150 รายการ ขายผ่านหน้าจอทีวีช่อง 8 การสร้างตัวแทนหรือนักธุรกิจขายตรงชั้นเดียว 2,000 คน ที่จะมีสินค้าเฉพาะ 15 รายการ วางเป้าหมายยอดขาย 300 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจสื่อรายได้จะเหลือ 30% มีช่อง 8 ซึ่งเป็นทีวีดิจิทัล แซตเทลไลต์ทีวี และคลื่นคูลฟาเรนไฮต์ ส่วนธุรกิจเพลงและการจัดกิจกรรมการตลาดจะมีประมาณ 10%

“จะเห็นว่าสัดส่วนรายได้เห็นชัดมากว่าเราเป็นธุรกิจใหม่อย่างเต็มตัว และจะทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ ทั้งด้านรายได้และกำไร อีก 3 ปีติดต่อกัน เนื่องจากเป็นการเติบโตภายใต้ต้นทุนคงที่ในปัจจุบัน ทุกๆ เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นของยอดขายจะกลายเป็นกำไร โดยธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกมีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นประมาณ 60-65% ส่วนธุรกิจสื่อมีมาร์จิ้นประมาณ 35% และธุรกิจเพลงมีประมาณ 15%” สุรชัย กล่าว

สุรชัย กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะมีโรงงานผลิตเองหลังจากยอดขายเพิ่มขึ้นมาเป็น 3,000 ล้านบาท และจะโตแบบก้าวกระโดด เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาคนอื่น โดยคิดว่าจะต้องผลิตเองให้ได้อย่างน้อย 60-70% ทำให้ธุรกิจมีความมั่นคงและสามารถเก็บกำไรจากการผลิตกลับเข้ามาที่บริษัท จากเดิมที่จ้างผลิตทั้งหมด

สำหรับธุรกิจเพลงได้ปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ ถือเป็นบิซิเนสโมเดลเดียวในโลกจากค่ายเพลงสู่ที่ปรึกษาด้านการลงทุนทำเพลง โดยที่ศิลปินต้องจ่ายเงินลงทุนทำเพลงเอง และยังสังกัดอยู่กับบริษัท อาร์เอส ทำให้สามารถสร้างรายได้และกำไรสม่ำเสมอ ขณะที่ในต่างประเทศศิลปิน เป็นคนลงทุนทำเพลงเอง และไม่สังกัดค่ายเพลง

“วันนี้ธุรกิจเพลงเราก็ยืนอยู่ได้ นักร้องมีความสุขที่ได้เป็นเจ้าของผลงานเอง กำหนดชีวิตเองได้ ในขณะที่ค่ายเพลงอื่นๆ กำลังลำบาก” สุรชัย กล่าว

สุรชัย กล่าวถึงธุรกิจสื่อที่มีทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิทัล และวิทยุ โดยเฉพาะทีวีดิจิทัล ไม่ต้องแบกรับต้นทุนจากสปอตโฆษณาที่เหลือ เพราะได้นำไปใช้ในการขายสินค้าทางทีวี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะการที่มีทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาจำนวนมากกว่า 20 เจ้า ทำให้สปอตโฆษณาขายไม่หมด เนื่องจากมีจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ซื้อมีเท่าเดิม และออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

วันนี้ทั้ง 3 ธุรกิจมีการสนับสนุนกัน ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและลงตัวมาก เพราะสปอตโฆษณาที่เหลือจากการขายในตลาด นำมาขายให้กับธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก ในขณะที่ช่อง 8 เป็นหน้าร้านขายของ โดยมีเซเลบริตี้ ดารา นักร้อง เข้ามาช่วยเสริม โดยที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์

“ทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดวิกฤตและเกิดโอกาสใหม่ๆ เสมอ สิ่งสำคัญคือต้องมองให้เห็น เห็นแล้วต้องคิดต่อว่าจะปรับตัวอย่างไร คิดแล้วต้องทำ และต้องทำให้เร็วเพื่อจะได้รู้ว่าถูกหรือผิด จะได้แก้ตัว ถ้าทำแล้วขาดทุนตัดทิ้งเลย อย่าแก้ปัญหาไปตามสภาพ เราจะได้เดินไปข้างหน้าได้เร็ว” สุรชัย สรุป

"สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์" ปั้นเครือข่ายธุรกิจหมื่นล้าน

ทรานส์ฟอร์มมาตลอด 37 ปี

ในวัย 56 ปีของ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส (RS) ต้องเผชิญกับการถูกเทคโนโลยีไล่ล่า หรือถูกดิสรัปธุรกิจมาโดยตลอด

สุรชัย กล่าวว่า ตลอด 37 ปีที่ทำธุรกิจมา มีการปรับองค์กร หรือทรานส์ฟอร์มมาตลอด เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไป จากธุรกิจเพลง อัดแผ่นเสียงขาย มาทำค่ายเพลง จากแผ่นเสียงมาเป็นเทปคาสเซต มาเป็นแผ่นซีดี ต่อมาให้ดาวน์โหลดฟรี และมีเอ็มพี 3 มาเป็นสตรีมมิ่ง ทำให้ตัดสินใจขายโรงงานผลิตแผ่นเสียง

สำหรับหัวใจสำคัญที่ทำให้การปรับเปลี่ยนองค์กรสำเร็จ ต้องรู้ว่าความเสี่ยงที่แท้จริง โครงสร้างองค์กรกระชับ ผู้บริหารมีความใกล้ชิดตลาด ทีมงานเปิดรับสิ่งใหม่ ซึ่งโครงสร้างองค์กรของอาร์เอสมีระดับการบริหารแนวราบ ตื้น ไม่มีลำดับหลายชั้น ทำให้พนักงานกับผู้บริหารมีความใกล้ชิดกัน เน้นไปที่เนื้องานและวิธีทำงาน ทำให้การทำงานเร็ว กระชับ

“มีผม และมีระดับรอง 2 คน ที่อยู่กันมานาน คือ กุ้ง-พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล และดามพ์ นานา ที่ทำได้ทุกอย่าง ไม่ได้ยึดติดอยู่กับตำแหน่งในรูปแบบเดิมๆ จากนั้นก็จะเป็นผู้บริหารระดับรองที่เป็นแนวราบ ทำให้เราไม่ได้ใช้ผู้บริหารเปลือง”สุรชัย อธิบาย

สุรชัย อธิบายต่อว่า สำหรับคน อาร์เอสถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาเรื่องการปรับตัว ทำให้ไม่กลัวสิ่งใหม่ พร้อมที่จะเปิดรับตลอดเวลา เพราะมีการสื่อสารถึงทิศทางของบริษัทตลอดเวลา ขณะที่ความใกล้ชิดตลาด ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องช่างสังเกต เมื่อเห็นยอดขายเริ่มตก ก็ต้องกลับมาคิดเพื่อหาทางออก และต้องตัดสินใจเด็ดขาด ซึ่งจะต้องสื่อสารให้กับทีมงานได้เห็นภาพตลอดเวลา และต้องรู้จังหวะ เพื่อที่จะได้ก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้องค์กรรอดมาได้ทุกครั้งที่ถูกดิสรัปทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ พยายามให้ทีมงานเข้าใจคำว่าคอมฟอร์ตโซน หรือจุดที่ปลอดภัยในชีวิตใหม่ ว่าจะต้องมีความสามารถอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรงได้อย่างมีกำไรและเติบโตได้ จึงจะปลอดภัย เพราะนั่นหมายถึงว่าสามารถแข่งขันได้ ไม่ใช่สถานการณ์ที่อยู่สบายๆ เพราะถ้าอยู่สบายๆ แสดงว่าธุรกิจไม่น่าสนใจจึงไม่มีใครเข้ามาแข่งขัน

ทั้งโครงสร้างองค์กรและเรื่องคน ไม่ได้ทำแค่ปีเดียวหรือครั้งเดียว แต่ทำมาตลอด เพราะเข้าใจว่าพื้นฐานของมนุษย์จะกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเจอ ไม่เคยรู้ และคนส่วนใหญ่ต้องการคอมฟอร์ตโซน จึงต้องสื่อสารและกระตุ้นกันตลอด บอกกันตรงๆ เพื่อสร้างพลังในการเดินไปด้วยกัน

“ผมจะบอกเสมอว่า ผมทำหน้าที่เป็นคนขับรถ จะบอกล่วงหน้าว่าจะสตาร์ทเมื่อไหร่ และรถจะออกกี่โมง ใครมาเร็วได้นั่งหน้า มาช้าได้นั่งหลัง มาไม่ทันตกรถ การบอกล่วงหน้าเพื่อจะได้เตรียมตัว เพราะเราไม่ต้องการทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ถ้าบอกแล้วทำไม่ได้ คนในรถส่วนใหญ่ก็จะไม่รอ เพราะไม่มีเวลา”สุรชัย กล่าว

สุรชัย กล่าวว่า การใช้คนจากธุรกิจเพลงมาทำธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีกในปัจจุบัน และยังคงทำธุรกิจเดิมทั้งเพลงและสื่อ ทำให้คนของอาร์เอสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความสามารถสูงขึ้น ทำได้หลากหลายธุรกิจ ถือเป็นจุดแข็ง เพราะทำให้ไม่มีกรอบเดิมๆ ครอบอยู่ จึงคิดใหม่และทำใหม่

นอกจากนี้ บริษัทไม่ได้ซื้อคนนอกเข้ามา ใช้คนเดิมทำงาน ซึ่งทำให้คนเดิมมีรายได้ที่สูงขึ้น ได้รับเงินตอบแทนพิเศษจากงานที่เพิ่มขึ้นมา พนักงานก็มีความสุข

“การที่เราไม่เคยทำ ไม่ได้หมายความว่าเราทำไม่เป็น หรือไม่ถนัด เราสามารถทำอะไรก็ได้ หากใส่ใจ เรียนรู้ และตั้งใจทำ ถ้าทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จต้องตัดทิ้งแล้วเริ่มหาสิ่งใหม่วันนี้เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราทำได้ และจะยังทำได้ดีกว่าเดิมอีก” สุรชัย อธิบาย