posttoday

อุตฯยานยนต์ บนความไม่แน่นอน

11 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ "ยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า" จะสามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้

ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ "ยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า" จะสามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้

**********************************

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

จากที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่ ซึ่งมีเรื่องของการเชื่อมต่อและระบบดิจิทัลเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ จากผลสำรวจ“20th KPMG Global Automotive Executive Survey (GAES)”ผู้บริหาร ส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ โดยผู้เล่นแต่ละรายจำเป็นต้องสร้างจุดแข็ง สร้างความรู้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างไปจากเดิม

ขณะที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังไม่มีความกังวลมากนักถึงผลกระทบต่อกำไรที่จะลดลง โดยผู้รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ (โออีเอ็ม) นั้น หากผู้รับจ้างผลิตยังไม่ได้วางแผนรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต จะส่งผลต่อกำไรที่ลดลงอันเนื่องมาจากปัจจัยแวดล้อมทางการตลาดที่มีมากขึ้นและความต้องการของตลาดที่หดตัวลง

ดีเตอร์ เบคเกอร์ ประธานฝ่ายยานยนต์ บริษัท เคเอ็มพีจี อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและธุรกิจ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องตระหนักว่าความไม่ปกติคือความปกติในยุคของการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวที่จะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกได้หมด ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างมีการจัดการที่แยกจากกันเป็นส่วนๆ แม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงกันบ้าง องค์กรเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลง ควบรวม หรือเปลี่ยนสภาพเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี

“บริษัทจึงเห็นถึงความไม่แน่นอนที่ค่อนข้างมาก สำหรับธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทรับจ้างผลิตส่วนใหญ่ จากการสำรวจเชื่อว่าพวกเขาสามารถปรับใช้แพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อให้บริการแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ แต่เราเห็นต่างและเราเชื่อว่าผู้เล่นดั้งเดิมที่ลงทุนในสินทรัพย์หรืออุปกรณ์ทั้งหมดด้วยตัวเองจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในการครองตลาดและการแข่งขันกับองค์กรเทคโนโลยีรายใหญ่ ที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อนการแข่งขันในตลาดยานยนต์” เบคเกอร์ กล่าว

อุตฯยานยนต์ บนความไม่แน่นอน

ธิดารัตน์ ฉิมหลวง ประธานฝ่ายดูแลลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าไทยจะยังคงเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก แต่ไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งในภูมิภาคที่ต่างกำลังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของตนเอง ประกอบกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ดังนั้น ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจึงต้องหาวิธีเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตนเอง ยานยนต์ขับเคลื่อนไฟฟ้า (อีวี) สามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้ เนื่องจากความต้องการรถอีวีทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้รถอีวี และนโยบายทางภาษีที่ส่งเสริมการผลิตรถอีวีในไทย ต่างเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในการเพิ่มความหลากหลายในการผลิต สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสูงสุด

นอกจากนี้ ความคาดหวังที่จะมีระบบนิเวศของการคนส่งผู้โดยสารและสินค้ารวมกันนั้นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหาร 60% เห็นด้วยว่าในอนาคตจะไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า

“สิ่งที่ชัดเจนคือจะไม่มีผู้เล่นรายใดที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเองอย่างเดียว ผู้บริหาร 83% มีความเห็นว่าระบบนิเวศที่ควบรวมการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้แต่ละองค์กรต้องทบทวนโมเดลธุรกิจของตน และเห็นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการขนส่ง ซึ่งองค์กรที่สามารถมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าและการขนส่งสินค้า มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ครอบครองแพลตฟอร์ม” ธิดารัตน์ กล่าว