posttoday

เอกชนวอนรัฐบาลใหม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ

11 กุมภาพันธ์ 2562

เอกชนเรียกร้องรัฐบาลใหม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เศรษฐกิจสมดุลและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

เอกชนเรียกร้องรัฐบาลใหม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เศรษฐกิจสมดุลและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเปิดเผยว่า นโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคการเมืองมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเพราะเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือต้องปฏิรูปเศรษฐกิจที่รัฐบาลชุดนี้ยังทำไม่เห็นผลชัดเจน เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งถือเป็นหัวใจ เพราะการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง ต้องทำให้รัฐวิสาหกิจเข้มแข็ง เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งทุกวันนี้หลายรัฐวิสาหกิจยังไม่เข้มแข็ง ทั้งด้านนโยบายการบริหาร ฐานะการเงิน

นอกจากนั้น ควรกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจกับประเทศที่มีความสำคัญทางการค้ากับไทยให้ชัดเจน และจะต้องใช้กลยุทธ์ระดับประเทศต่อประเทศซึ่งต้องกำหนดนโยบายระดับกระทรวง เพื่อให้มีแนวทางในการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกันกับจีน เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนกับจีน ที่ผ่านมาจะมองในภาพรวม เช่น ต้องส่งออกไปประเทศไหน

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ควรปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุลเพื่อความยั่งยืน ไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป เพราะจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีความผันผวนสูง ไร้เสถียรภาพ

เอกชนวอนรัฐบาลใหม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ

ภาคการเงินอยากเห็นเสถียรภาพเศรษฐกิจ

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการมากที่สุด คือ ความมีเสถียรภาพทั้งด้านการเงินและด้านการคลัง เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งระดับหนี้สาธารณะของกระทรวงการคลังให้อยู่ในกรอบวินัย โดยขณะนี้ทางการสามารถดูแลให้มีเสถียรภาพได้ดี และเป็นสิ่งที่อยากเห็นต่อไป เพราะจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ดีต่อเนื่อง

อีกโจทย์หนึ่งของรัฐบาลใหม่ คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านนโยบายต่างๆ และเห็นอัตราคนจนลดลง แต่ยังมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ต้องไปทำต่อ เช่น ยกระดับการศึกษา การส่งเสริมให้เข้าถึงความรู้ และนโยบายการเก็บภาษี ที่เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลา ผลลัพธ์คงไม่เห็นอย่างรวดเร็วนัก

ส่วนโจทย์ที่สาม ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจเจริญขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงระดับหนึ่ง สิ่งแวดล้อมจะรองรับการเติบโตไม่ไหว เห็นได้จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มาจากเหตุของฝุ่นก่อสร้างและไอเสียรถยนต์ ถ้าไม่ป้องกันให้ดี ก็ย้อนกลับมากลายเป็นต้นทุนการประกอบธุรกิจ

สำหรับโจทย์ที่เร่งด่วนไม่แพ้กัน คือ ปัญหาด้านแรงงาน ทั้งการขาดแคลนแรงงาน และขาดแรงงานที่มีทักษะ โดยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาในระยะหนึ่งแล้ว แรงงานต้องเตรียมตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น จากช่วงนี้ที่มีการปรับตัว เนื่องจากเทคโนโลยีปรับตัวค่อนข้างเยอะ ส่งผลไปสู่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แรงงานต้องพัฒนาฝีมือใหม่ ขณะที่เด็กจบมหาวิทยาลัย รวมทั้งแรงงานที่ถูกทดแทนจากเทคโนโลยี ขณะนี้ก็มีการทำอยู่มีการคุยกับเยอรมนี เป็นสิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลทำต่อไป

และด้านสุดท้ายคือความต่อเนื่องการลงทุนและการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ให้สะดุด โดยการเบิกจ่ายงบประมาณมีความเสี่ยง ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลใหม่ต้องรีบทำงบในปีถัดไปโดยมีเวลาทำค่อนข้างสั้น หากไม่ทัน รูปแบบการบริหารไม่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจอาจสะดุดได้

“เสถียรภาพรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ แต่มองถึงว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาหลังจากนี้ ต้องมีการแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาเดิมและเป็นปัญหาเดียวกัน แม้จะคนละรัฐบาลก็ต้องเข้ามาแก้”นายปรีดี กล่าว

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนระยะยาว เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น การจูงใจเรื่องภาษีสำหรับการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะตราสารหนี้ เพื่อจูงใจให้ประชากรเพิ่มการลงทุนระยะยาว ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะสินทรัพย์ประเภทหุ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ทำการทบทวนการยกเลิกภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัด เช่น การขอคืนภาษีของนักลงทุนที่ไม่มีรายได้ จะทำอย่างไร การหักภาษีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บในตอนแรกก่อนเบิกใช้เงินกู้ (Upfront) ของพันธบัตรระยะสั้นที่ขายต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว ที่อาจจะทำให้ความน่าสนใจของพันธบัตรลดลง

เอกชนวอนรัฐบาลใหม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ

ภาคธุรกิจขอรัฐเร่งแก้กฎหมายดันท่องเที่ยว

นายนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่ง คือการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (เรกูลาทอรี่ กิโยตีน) ที่ในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด หากมีการแก้ไขจะเป็นผลดีต่อการทำธุรกิจมากขึ้น พร้อมกันนี้ ต้องการให้ภาครัฐเร่งการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวีซ่าของคนต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่มีความล่าช้าอยู่เช่นกัน ซึ่งหากดำเนินการได้รวดเร็ว จะช่วยอำนวยความสะดวกของคนต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องมีใบอนุญาตทำงานในไทย ควรจะดำเนินการให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานในโลก

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ มุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าให้ได้ผลอย่างชัดเจน เพราะการแก้ปัญหาที่ผ่านมายังไม่เห็นผล กำลังการซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่เรื่องเร่งด่วน ปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ต้องวางมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนในกรุงเทพฯ และกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีให้มีอัตราการเติบโต

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจากรัฐบาลใหม่คือต้องการเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดี ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองน้อยที่สุด เพื่อจะทำให้กำลังซื้อของคนฟื้นตัว โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

เอกชนวอนรัฐบาลใหม่ปฏิรูปเศรษฐกิจ