posttoday

เดินหน้าควบรวมกสท-ทีโอที

09 กุมภาพันธ์ 2562

คนร.เร่งเครื่องควบรวม กสทฯ-ทีโอที เคลียร์คดีพิพาทกับเอกชนกว่า 1 หมื่นล้าน ปูทางสู่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ

คนร.เร่งเครื่องควบรวม กสทฯ-ทีโอที เคลียร์คดีพิพาทกับเอกชนกว่า 1 หมื่นล้าน ปูทางสู่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ

นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปข้อชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีพิพาทฟ้องร้องระหว่าง กสทฯ กับคู่สัญญาเอกชน เพื่อนำส่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อให้แผนควบรวมกิจการกับบริษัท ทีโอที เสร็จตามเป้าหมายที่ คนร.วางไว้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562

ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ คนร. ให้กสทฯ และทีโอทีชี้แจงเพิ่มเติม คือประเด็นความชัดเจนเรื่องกฎหมายและข้อพิพาทที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในส่วนข้อพิพาทระหว่าง กสทฯ และทีโอทีนั้นคาดว่าไม่น่าเป็นปัญหา เพราะสามารถยุติลงได้หลังการควบรวม คงเหลือแต่ประเด็นฟ้องร้องต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานทั้งสองกับเอกชนคู่สัญญาสัมปทานเอกชน

สำหรับคดีหลักๆ ที่เป็นกรณีพิพาท คือ ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (แอ็กเซสชาร์จ) มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่ทีโอทีได้ฟ้องเอกชนคู่สัญญาของ กสทฯ ซึ่งมีความกังวลว่าหากควบรวมแล้วเอกชนอาจใช้เป็นข้ออ้างในการไม่จ่ายค่าเอซี เนื่องจากเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ

ขณะที่การควบรวมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นไปตามมติ คนร. เพื่อหวังลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินธุรกิจ และต้องการใช้จุดแข็งด้านโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ มาช่วยสร้างรายได้ให้กับบริษัทใหม่แทนที่จะแข่งขันกันทำธุรกิจอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองเป็นหน่วยงานโทรคมนาคมของรัฐ


นายดนันท์ กล่าวว่า ระหว่างนี้ กสทฯ ยังคงเดินหน้าให้บริการตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลายบนเครือข่ายบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ธุรกิจในขณะนี้ที่เป็นการผนวกรวมของทั้งบริการโทรคมนาคม บริการสื่อ และบริการคอนเทนต์

นอกจากนี้ กสทฯ ยังให้การสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อร่วมพัฒนาคอนเทนต์สู่วงกว้าง โดยในปีนี้ยังคงสานต่อโครงการประกวดหนังสั้น (CAT Short Film)ภายใต้แนวคิดเสน่ห์ไทยที่คุณไม่เคยรู้เพื่อต้องการเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์เสน่ห์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ได้เข้าถึงผู้ชมผ่าน รูปแบบหนังสั้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งหนังสั้นที่ได้รับรางวัลของโครงการนี้จะถูกนำไปฉายผ่านแคท ชาแนล (CAT Channel) ของ กสทฯ

ทั้งนี้ ในปี 2561 กสทฯ มีผลกำไรมากกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และในปี 2562 กสทฯ จะมีรายได้จากการลงนามเซ็นสัญญาระงับข้อพิพาทกับดีแทคอีก โดยเงินงวดแรกตามที่ดีแทคแจ้ง 6,840 ล้านบาท จากทั้งหมด 9,510 ล้านบาท หากสามารถบันทึกเข้ามาในปีนี้ จะทำให้ กสทฯ มีรายได้พิเศษเข้ามา 1 รายการ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในปี 2562 นี้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้ 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นมากกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กสทฯ ยังคงเดินหน้าทำสัญญากับทรูในรูปแบบเดียวกับดีแทคด้วย