posttoday

เร่งปั้นสตาร์ทอัพ

06 กุมภาพันธ์ 2562

สตาร์ทอัพ เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

เรื่อง เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร

สตาร์ทอัพ เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งความหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในยุค 4.0 นี้

ล่าสุด สมคิดเดินทางไปกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันความร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) ที่เลือกตั้งสำนักงานในประเทศไทย พร้อมเตรียมลงนามความร่วมมือในการจัดตั้ง “อินโนสเปซ (ไทยแลนด์)” เพื่อส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย ในวันที่ 28 ก.พ.นี้

สำหรับศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรม หรือ Thailand InnoSpace เป็นความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานพันธมิตร 16 องค์กร มีทุนประเดิมเริ่มต้น 500 ล้านบาท ซึ่ง อุตตม สาวนายน อดีต รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2561 และมีแผนจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูต่อไปว่าโครงการนี้จะเป็นรูปเป็นร่างได้ทันตามกำหนดหรือไม่ แต่ปัจจุบันหลายหน่วยงานของรัฐต่างเร่งผลักดันโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ล่าสุด สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือ “โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร (Foodtech Incubator & Accelerator Program; FIAP)” ภายใต้ชื่อ “SPACE-F” เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหาร (FoodTech Startup)

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า SPACE-F จะเน้น 9 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.อาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) 2.โปรตีนทางเลือก (Alternative Proteins) 3.กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) 4.บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (Packaging Solutions) 5.ส่วนผสมและอาหารใหม่ (Novel Food & Ingredients) 6.วัสดุชีวภาพและสารเคมี (Biomaterials & Chemicals) 7.เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (Restaurant Tech) 8.การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (Food Safety & Quality) และ 9.บริการอัจฉริยะด้านอาหาร (Smart Food Services)

ทั้งนี้ NIA ตั้งเป้าว่าโครงการ SPACE-F จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 60 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยในเดือน พ.ค.นี้ จะคัดเลือกบริษัทสตาร์ทอัพ 12-30 ราย เพื่อเข้าร่วมโครงการ

นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซล (TCELS) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมจัดโครงการ TCELS Mentoring Program..Journey to Success วันที่ 15 ก.พ.นี้ เพื่อปั้นสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ผ่านการอบรมพัฒนาแผนธุรกิจมาแล้ว ให้มีนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ

TCELS ได้เริ่มดำเนินโครงการในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ ภายใต้แบรนด์ Thailand Startup for Life Sciences ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีความร่วมมือจากพันธมิตรภาคธุรกิจและการเงิน ในการบ่มเพาะ พัฒนาระบบ และการร่วมลงทุน (Investment)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ทีเซลร่วมจับมือกับพันธมิตรอื่นๆ ในการทำธุรกิจอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ Digital Health Chiang Mai Revolution ร่วมกับ STeP, โครงการ SPRINT Batch 3 ร่วมกับ Sasin และ SCG Chemicals และโครงการ Leave A Nest ร่วมมือกับ Accelerator จากญี่ปุ่น ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.tcels.or.th หรือสอบถามโทร. 08-6490-0139