posttoday

คิกออฟ 5จี เงื่อนไขอยู่ที่ค่าประมูล

05 กุมภาพันธ์ 2562

กสทช. ถือฤกษ์ดีเปิดศูนย์ 5G AI/IOT Innovation Center ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมของไทย

โดย...เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร

วันที่ 5 ก.พ. 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือฤกษ์ดีเปิดศูนย์ 5G AI/IOT Innovation Center ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมของไทย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดศูนย์ทดสอบ 5จี ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาระบบ 5จี อย่างรวดเร็ว ในช่วง 3 ปีจากนี้ โดย กสทช.ได้อนุมัติคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5จี รวม 3 ย่านความถี่ ได้แก่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ 3500 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ เมื่ออุปกรณ์มีความพร้อม กสทช.จะเดินหน้าประมูลต่อไป

"สำหรับภาคเอกชนที่มีความกังวลว่าการประมูล 5จี ต้องใช้เงินลงทุนสูง ขอบอกว่าไม่ต้องกังวล กสทช.จะทำทุกวิถีทางที่จะเดินหน้า 5จี ต่อไปให้ได้" ฐากร ระบุ

สำหรับการทดลองทดสอบการใช้เทคโนโลยี 5จี ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การพัฒนาการขนส่งด้วยระบบ 5จี ระบบเซ็นเซอร์วัดสภาพแวดล้อม (Smart CU-PoP Bus) Smart Hospital and Telehealth และการทดสอบระบบการใช้งานเสาอัจฉริยะยุคหน้า (Smart Pole)

โดยสาเหตุที่เลือกจุฬาฯ เป็นพื้นที่ในการทดสอบ เพราะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน รวมทั้งบริเวณโดยรอบทั้งสยามสแควร์ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ย่านการค้าสวนหลวง และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เหมาะสมที่จะทดสอบเคสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา 5จี

คนึงเดช ไตรรัตนอุปถัมภ์ ผู้อำนวยการ ด้านเทคนิค-คุณภาพโครงข่าย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า อย่างที่ทราบดีว่าตลาดมือถือในประเทศไทยอิ่มตัว โดยมีอัตราการครอบครองอุปกรณ์ ถึง 140% ผู้ประกอบการต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ และ 5จี คือคำตอบ

"แต่ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องกลับไปที่ต้นทุน ถ้าคลื่นความถี่ยังมีโครงสร้างราคาแบบปัจจุบันนี้ บอกได้ว่า 5จี เกิดได้ยากมาก" คนึงเดช กล่าว

ขณะที่ ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญพิเศษฝ่ายกลยุทธ์เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ 5จี มี 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1.อีโคซิสเต็มส์ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกันของอุตสาหกรรมในประเทศไทย 2.การกำกับดูแล โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และ 3.คลื่นความถี่ที่ กสทช.จะต้องวางโรดแมปที่ชัดเจน

"เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่การลงทุนที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด และราคาเริ่มต้นการประมูลที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี แต่เป็นผู้ใช้งาน" ดร.เอก ระบุ

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า สิ่งสำคัญของ 5จี คือ การวางระบบโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เป็นยุทธศาสตร์ของชาติ ทั้งเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม วันนี้ กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คิกออฟ 5จี ขึ้นแล้วในประเทศไทย แต่จะพัฒนาต่อได้มากน้อยขนาดไหน อยู่ที่เงื่อนไขของการประมูล การกำหนดราคาตั้งต้น ที่จะชี้ขาดว่า 5จี จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่