posttoday

ขสมก.ใช้น้ำมันB20ในรถเมล์ครบ 2,000คันในวันที่ 1 ก.พ.นี้

31 มกราคม 2562

ขสมก.-ปตท.ประกาศความพร้อมรถโดยสารสาธารณะใช้ดีเซลB20 ช่วยลดฝุ่น PM2.5 วางเป้าใช้กับรถขสมก.ครบทั้งหมด 2,075 คัน

ขสมก.-ปตท.ประกาศความพร้อมรถโดยสารสาธารณะใช้ดีเซลB20 ช่วยลดฝุ่น PM2.5 วางเป้าใช้กับรถขสมก.ครบทั้งหมด 2,075 คัน

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 62 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เป็นประธานแถลงข่าวร่วมระหว่าง บริษัท ปตท. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประกาศความพร้อมรถโดยสารใช้น้ำมัน B20 โดยมีผู้บริหารของบริษัท ฮีโน่ มอเตอร์สเซลล์ (ประเทศไทย) และ บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลล์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำค่ายรถบรรทุกขนาดใหญ่ร่วมด้วย

นายศิริ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการทดลองใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 กับรถ ขสมก. ซึ่งพบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่แตกต่างกับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ อีกทั้งยังทำให้ระบบเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการลดฝุ่นละอองจากท่อไอเสียของยานยนต์ สำหรับมาตรการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ กรมธุรกิจพลังงานได้ขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศจัดทำแผนปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน EURO4 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 50 ppm) เป็นมาตรฐาน EURO5 (ค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm) ซึ่งจะช่วยให้การเผาไหม้เครื่องยนต์สะอาดมากขึ้น

ล่าสุดกระกรมธุรกิจพลังงานประกาศสเปกน้ำมัน B20 เพื่อจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันทั่วไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ เพื่อช่วยลดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีปริมาณสะสมสูงเกินค่ามาตรฐาน โดยวันที่ 1 ก.พ.นี้ จะเปิดนำร่องในสถานีบริการน้ำมันปตท. และบางจาก รวม 10 แห่ง นอกจากนี้กรทะรวงพลังงานยังมีมาตรการระยะยาว โดยเตรียมประกาศใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO5 ซึ่งจะต้องหารือกับผู้ผลิตน้ำมันและค่ายรถยนต์ถึงการเตรียมความพร้อมก่อน

ด้านนายอาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดออกมาตรการเพื่อบรรเทาสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐานโดยเร่งด่วน เริ่มจากให้กรมการขนส่งทางบก จัดทีมตรวจสภาพรถ ขสมก. โดยต้องไม่เกิดปัญหาควันดำโดยเด็ดขาด ให้ ขสมก. ปรับเครื่องยนต์โดยสารทุกคันให้ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 เพื่อลดมลพิษจำนวน 2,075 คัน รวมถึงเร่งประสานขอรับรถ NGV ในส่วนที่เหลืออีก 119 คัน เพื่อให้บริการประชาชนและเร่งจัดหารถที่ใช้พลังงานสะอาด ประกอบด้วย รถโดยสาร NGV รถไฮบริด รถไฟฟ้า (EV) เพื่อแก้ปัญหาต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้มงวดมาตรการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 โครงการ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย แก้ปัญหาฝุ่นละอองหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ด้านกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ให้เข้มงวดตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และให้กรมเจ้าท่า ประสานผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำให้ตรวจสอบการใช้เครื่องยนต์เรือโดยสาร

ส่วนการทดสอบใช้น้ำมัน B10 ในรถไฟ ที่ปตท.ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในบางเส้นทางตั้งแต่ปี 2561 พบว่าได้ผลดี ซึ่งกระทรวงคมนาคมเตรียมความพร้อมเพื่อขยายไปยังรถไฟดีเซลเส้นทางอื่น ๆ ต่อไป

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์กร รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ขสมก.ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเมื่อช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ขสมก. ได้ทดลองใช้น้ำมัน B20 กับรถโดยสารธรรมดา จำนวน 17 คัน พบว่าเครื่องยนต์สามารถทำงานได้ตามปกติ และมีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล B7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันขสมก. จึงได้มีแผนนำน้ำมันดีเซล B20 มาใช้กับรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 2,075 คัน แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดา จำนวน 815 คัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และระยะที่ 2 ใช้น้ำมันดีเซล B20 กับรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,260 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ปตท. กล่าวว่า ปตท. ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการภาครัฐ สนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์ม อีกทั้งแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน โดยในกลุ่มเชื้อเพลิงรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ ปตท. มีความพร้อมในการจัดหาและขนส่งน้ำมัน B20 ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในสัดส่วนร้อยละ 20 ให้กับรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. จำนวน 2,075 คัน ประมาณการใช้น้ำมันทั้งสิ้น 187,000 ลิตรต่อวัน สร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน ช่วยเหลือเกษตรกรน้ำมันปาล์มได้อีกด้วย

สำหรับความพร้อมการปรับปรุงโรงกลั่นเป็นมาตรฐาน EURO5 นั้น กลุ่ม ปตท.มีความพร้อม แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของค่ายรถยนต์ และรอกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายออกมาก่อน คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปี