posttoday

ทั่วโลกแห่ใช้โอเพ่นซอร์ส ‘เรดแฮต’บุกอาเซียน

31 มกราคม 2562

ทิศทางของกลุ่มองค์กรทั่วโลก มีแนวโน้มว่าจะใช้โอเพ่นซอร์ส (Open Source) หรือซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้งาน

เรื่อง รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย 

ทิศทางของกลุ่มองค์กรทั่วโลก มีแนวโน้มว่าจะใช้โอเพ่นซอร์ส (Open Source) หรือซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้งาน ศึกษา แก้ไข และเผยแพร่ได้อย่างเสรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งองค์กรในประเทศไทยก็มีแนวโน้มการใช้งานโอเพ่นซอร์สเพิ่มขึ้น เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายจากลิขสิทธิ์ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้

เดเมียน วอง รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ ประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท เรดแฮต เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณไม่ดี ทำให้องค์กรทั่วโลกที่ต้องทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อก้าวสู่ดิจิทัลนั้น ต้องชะลอแผนการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้องค์กรทั่วโลกมีแนวโน้มว่าจะใช้โอเพ่นซอร์สเพิ่มขึ้นภายใต้เทคโนโลยี เรดแฮตโอเพ่นชิฟต์ คอนเทนเนอร์ แพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ แผนธุรกิจของบริษัทจะโฟกัสตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนถือว่ามีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด โดยจะมุ่งทำตลาดใน 5 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย สำหรับเรดแฮตมีพันธมิตรที่พัฒนาโอเพ่นซอร์สจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีไอโอที เออาร์/วีอาร์ เอไอ ซึ่งบริษัทก็มองหาโอเพ่นซอร์สที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาต่อยอดให้กับองค์กรในด้านต่างๆ

“อุปสรรคของการใช้โอเพ่นซอร์สวัฒนธรรมขององค์กรและวิชั่นระดับผู้บริหาร ที่จะยอมรับการใช้โอเพ่นซอร์สจากข้างนอกหรือไม่ และโจทย์ใหญ่ขององค์กร คือ นอกจากเรียนรู้งานจากโอเพ่นซอร์สแล้ว ต้องสามารถนำไปพัฒนาหรือต่อยอดได้ เหมือนเช่นเรดแฮตจะเลือกนวัตกรรมโอเพ่นซอร์ส เพื่อนำมาต่อยอดและนำเสนอให้กับลูกค้า” วอง กล่าว

สำหรับโอเพ่นซอร์สในเอเชีย-แปซิฟิก องค์กรนำมาใช้งาน เพื่อช่วยแก้ไขความท้าทายในยุคดิจิทัล โดยในปี 2560 เรดแฮตได้จัดกิจกรรมเรดแฮตฟอรั่ม เอเชียแปซิฟิก ประกาศรางวัลเรดแฮต อินโนเวชั่น อวอร์ด เอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีสองบริษัทได้รับรางวัล คือ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป และบริษัท แอสเซนด์ มันนี่

ด้าน จรุง เกียรติสุภาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่า แอพเคพลัส สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ดีขึ้นมาก ด้วยระบบฟิดการแจ้งเตือนแบบใหม่ ด้วยเทคโนโลยี เรดแฮต โอเพ่นชิฟต์ คอนเทนเนอร์ แพลตฟอร์ม และเรดแฮต เอเอ็มคิว การอัพเกรดครั้งนี้ ครอบคลุมบริการแจ้งเตือน ตั้งแต่ด้านการเงินและส่วนบริการอื่นๆ เช่น บริการไลฟ์สไตล์คำสั่งถอนเงินในแอพโมบายแบงก์กิ้ง

“แอพพลิเคชั่นเคพลัส วางเป้าหมายการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยขยายฐานลูกค้าจาก 10 ล้านบัญชี เพิ่มเป็น 20 ล้านบัญชีภายใน 3 ปี หรือปี 2564 และเพิ่มจำนวนธุรกรรมเป็น 2 เท่า จาก 5,000 ธุรกรรม/วินาที เป็น1 หมื่นธุรกรรม/วินาทีในปีนี้ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นธุรกรรม/วินาทีภายในปีหน้า” จรุง กล่าว

ทิม ฮาเวิร์ด หัวหน้าฝ่ายการให้บริการเทคโนโลยี บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ กล่าวว่า เทคโนโลยีของเรดแฮต ช่วยให้บริษัทสามารถผนวกรวมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทรู มันนี่ ได้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค และเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ในการโอนเงินให้แก่ครอบครัวและคนใกล้ชิดที่อยู่ห่างกันไกล แพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยให้บริษัทขยายเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมตัวแทนกว่า 5 หมื่นรายในอาเซียน

“การดำเนินธุรกิจฟินเทค ต้องพัฒนางานด้านบริการตลอดเวลา ซึ่งบริษัทมีความพร้อมด้านการลงทุนอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญของการพัฒนาเซอร์วิสให้ตอบโจทย์กับการใช้งานทั้ง 6 ประเทศที่บริษัทดำเนินการอยู่ ข้อดีของการใช้โอเพ่นซอร์ส ทำให้มีนวัตกรรมใหม่ๆ และช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัททรานส์ฟอร์เมชั่นได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” ฮาเวิร์ด กล่าว

โอเพ่นซอร์สอาจจะตอบโจทย์องค์กรในด้านของการประหยัดเวลา ไม่ต้องเสียเวลามาทดลองอะไรใหม่ๆ แต่สุดท้ายแล้ว การทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กรต้องใช้ ทั้งเทรดิชันแนลซอฟต์แวร์และโอเพ่นซอร์สควบคู่กัน เพื่อสร้างขีดความสามารถองค์กรมีประสิทธิภาพสูงที่สุด