posttoday

"บอร์ดPPP"เห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี

21 มกราคม 2562

คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนใน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี เงินลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท

คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนใน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี เงินลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการของโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนจำนวน 2 โครงการ คือ

1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนรวม 235,320 ล้านบาท ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนตะวันตก และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกเป็นต้นไป โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงิน (Subsidy) แก่เอกชนในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า และงานเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นทาง

โดยโครงการดังกล่าว จะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางของกลุ่มผู้โดยสารในเขตที่อยู่อาศัยชานเมือง ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อให้เกิดการเดินทางเข้าสู่บริเวณศูนย์กลางเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ด้วยระบบรางให้สมบูรณ์ตามแผนแม่บท M – MAP รวมทั้งบรรเทาปัญหาการจราจรแออัดภายในเมือง

"รูปแบบโครงการพีพีพีรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นแบบ PPPNetCost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนตะวันตกและภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการส่วนตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง โดยมีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกเป็นต้นไป" นางปานทิพย์ กล่าว

2. โครงการการจัดประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยให้สิทธิเอกชนร่วมลงทุนเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยมอบหมายให้บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด และคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกเอกชนอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP เห็นชอบให้โครงการการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ตามเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Transit – Oriented Development : TOD) ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ระยะที่ 2 ของการเคหะแห่งชาติ มูลค่าโครงการรวม 4,235 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการขนาดกลาง (วงเงินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท) ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

นางปานทิพย์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ PPP ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการ เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - วงแหวนกาญจนาภิเษก (มูลค่ารวม 128,235 ล้านบาท) คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในต้นปี 2562

รวมถึงยังได้ติดตามโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมา ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นของหัวเมืองหลัก

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้รับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการ PPP Fast Track ทั้ง 11 โครงการ มูลค่า 8.2 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการอนุมัติไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สายสีชมพู และสายสีน้ำเงิน และล่าสุดได้อนุมัติสายสีส้ม และคาดว่าภายในปีนี้จะอนุมัติสายสีม่วงมูลค่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการที่เหลือ เช่น การสร้างถนนมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนการสร้างรถไฟในเมืองใหญ่ต่างจังหวัด ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ตอนนี้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก้กฎหมายให้ดำเนินก่อสร้างและบริการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดได้ ซึ่งได้พิจารณาแก้ไขเป็นที่เรียบร้อย เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ก็จะดำเนินการโครงการ PPP ดังกล่าวได้

"คณะกรรมการ PPP มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการภายใต้มาตรการ PPP FastTrack ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาโดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก มูลค่ารวม 1.28 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในต้นปี 2562 รวมถึงยังได้ติดตามโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตเชียงใหม่ และนครราชสีมาให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นของหัวเมืองหลัก" นางปานทิพย์ กล่าว

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ