posttoday

เจแปน เกนกิ กรุ๊ป สถานดูแลผู้สูงอายุในไทย

10 มกราคม 2562

อีกไม่กี่ปีประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ภาคเอกชนไทยและต่างประเทศมุ่งสร้าง

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

อีกไม่กี่ปีประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ภาคเอกชนไทยและต่างประเทศมุ่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อนำมาบริการแก่ผู้สูงอายุ รวมถึงเอกชนญี่ปุ่น “เจแปน เกนกิ กรุ๊ป” มีแผนจะเปิดสถานดูแลผู้สูงอายุในไทย ผ่านการร่วมมือกับภาคเอกชนไทย และจะนำร่องเปิดให้บริการที่ กทม.

“เจแปน เกนกิ กรุ๊ป” ถือเป็นเอกชนของญี่ปุ่นรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสถานดูแลผู้สูงอายุไปจนถึงโรงพยาบาลและการสร้างบุคลากรในด้านนี้

“ไซโต มาซารุ” ผู้จัดการหัวหน้าแผนกธุรกิจต่างประเทศ บริษัท เจแปน เกนกิ กรุ๊ป ทำธุรกิจด้านสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัทได้มีแผนขยายธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น มาเปิดให้บริการในไทย และได้มีพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดูแลสุขภาพ ซึ่งจะเลือกเปิดในพื้นที่ กทม. มีจำนวนเตียงรองรับรวมประมาณ 200 เตียง และแผนจะเปิดให้บริการโดยเร็ว

สำหรับการขยายเข้ามาเปิดให้บริการในไทย เนื่องจากผู้บริหารของบริษัทต้องการนำองค์ความรู้ที่ได้บริหารสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นมาร่วมขยายบริการแก่กลุ่มลูกค้า โดยเป็นการเปิดให้บริการนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สามต่อจากประเทศจีนและไต้หวันประกอบกับ ประเทศไทยก็กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีความต้องการใช้ระบบและบริการของสถานดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

จุดเด่นของในการให้บริการแก่ลูกค้า คือ การที่จะนำเสนอบริการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุในแต่ละคน ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสถานดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศญี่ปุ่น จำนวนประมาณ 80 แห่ง และมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ดูแลอยู่ในจำนวนหลายพันคน โดยประเทศญี่ปุ่นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ถือว่าบริษัทเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นและมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและการแพทย์

“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต่อเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและให้บริการผู้สูงอายุเติบโตไปด้วย”มาซารุ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการตั้งบริษัทในไทยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ บริษัท มอสซังงะ (ประเทศไทย) จะมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับด้านพยาบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่สนใจไปเรียนด้านการบริบาลที่ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงบริษัทได้มีการใช้หุ่นยนต์ดินสอ จำนวน 100 ตัว ของบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติก ไปดูแลในสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น และได้รับความสนใจที่ดีจากกลุ่มผู้สูงอายุในญี่ปุ่น

ขณะที่ หุ่นยนต์ดินสอ ที่ได้นำไปใช้ในสถานดูแลผู้สูงอายุจะทำหน้าที่ทั้งการวัดความดัน การจัดค่าต่างๆ การแจ้งเตือนรับประทานยา โดยข้อมูลทั้งหมดจะเก็บไว้ในหุ่นยนต์ได้ ทำให้บุคลากรในการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุสามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้น

ข้อมูลที่ผ่านมาของประเทศญี่ปุ่น จะมีจำนวนประชากรมากกว่า 126 ล้านคน และมีกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 35 ล้านคน หรือมีสัดส่วนประมาณ 27.7% โดยระบบดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นที่รัฐบาลจะสนับสนุนงบในการให้ผู้สูงอายุไปอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ส่วนภาคเอกชนจะมีการพัฒนาสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาดูแล เนื่องจากบุคลากรในประเทศที่มีจำนวนไม่เพียงพอ

“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประธานบริษัทอยากนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ นำมาขยายเผยแพร่สู่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยที่ผ่านมาจึงมีการเปิดให้บริการทั้งที่ประเทศจีนและไต้หวัน ที่เป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ส่วนประเทศกัมพูชา มีการเปิดเป็นโรงพยาบาลและในไทยจะเปิดเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ได้เจรจากับพันธมิตรของภาคเอกชนไทยอยู่” มาซารุ กล่าว