posttoday

ทีดีอาร์ไอชงรัฐปรับนโยบายข้าว

22 ธันวาคม 2561

นโยบายแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำของทุกรัฐบาลใช้แต่เงินอุดหนุนพยุงราคาแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ช่วยให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรในระยะยาว

นโยบายแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำของทุกรัฐบาลใช้แต่เงินอุดหนุนพยุงราคาแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ช่วยให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรในระยะยาว

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศ ไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนา เรื่องปฏิรูปนโยบายรัฐเกี่ยวกับข้าว และชาวนาไทยว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี นโยบายแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ของทุกรัฐบาล ใช้แต่นโยบายเงินอุดหนุนพยุงราคาแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ช่วย ให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรในระยะยาว

ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าว แต่กลับให้เงินอุดหนุนในโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปีในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินรายละ 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 1.8 หมื่นบาท ถือเป็นการทำนโยบายที่ขัดแย้งกัน เพราะเกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกข้าวเพื่อจะได้รับเงินอุดหนุน ขณะที่นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด ทำให้เกษตรกรไม่พัฒนาคุณภาพข้าว เพราะปลูกข้าวอะไรก็ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหมด

"ไม่ได้จะบอกว่าต้องยกเลิกนโยบายหรือมาตรการไหน แต่ลองไปดูเองว่าที่ใช้เงินอุดหนุนแต่ละปีมากมายแบบนี้ แล้วยิ่งกลายเป็นทำให้ภาคเกษตรอ่อนแอ ลงแบบนี้ ควรจะทำอย่างไร ควรสนับสนุนต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่าการปรับโครงสร้างภาคเกษตรใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ซึ่งในทางการเมืองคงรอ ไม่ได้" นิพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเด็นที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการกำหนดนโยบายในอนาคต คือการเปลี่ยนแปลงของบริบทต่างๆ เช่น ประเทศที่เจริญแล้วลดการ บริโภคข้าว ราคาข้าวในตลาดโลกมี ความผันผวนกว่าพืชตัวอื่น ความอ่อนแอขององค์กรในการจัดการนโยบาย เมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีองค์ความรู้ดีกว่านำไปสู่การพัฒนาที่รองรับความต้องการตลาดได้มากกว่า

นิพนธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้อุดหนุนมาเป็นผู้แก้ไขข้อบกพร่อง ทำวิจัย และคาดคะเนผลผลิตที่ถูกต้องไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้เล่น ดึงผลผลิตเก็บไว้เอง โดยเสนอให้พัฒนาเรื่องรายได้เกษตรกร รู้จักการทำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ลดต้นทุน ไม่ใช่รัฐเป็นคนนำเงินไปอุดหนุนลดต้นทุน หลายประเทศทำเรื่องฟาร์มมิ่ง 4.0 กันแล้ว ต้องปฏิรูปงานวิจัย และจัดสรรงบประมาณวิจัยให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการตลาดในอนาคต การส่งเสริมเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพราะจะเข้าใจกลไกมากกว่าภาครัฐ การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร ทำเกษตรแปรรูป การสร้างศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง และการยกเครื่องการพัฒนาผลผลิตภาคการเกษตร

ทั้งนี้ รัฐควรนำบางนโยบายไปวิจัยต่อเพื่อดูว่าประสบความสำเร็จ หรือ ล้มเหลวอย่างไร เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพและใช้เงินภาษีประชาชนให้ดีที่สุด โดยต้องดูว่ามีผลต่อรายได้สุทธิต้นทุนของชาวนาอย่างไร มีผลต่อโรงสี การค้า อุตสาหกรรมข้าวและการแข่งขันอย่างไร จากนั้นจึงให้ลำดับความสำคัญของนโยบายที่ต้องการปฏิรูปและนโยบายที่ไม่ควรทำต่อไป

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ถ้าไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง เชื่อว่าอีก 3 ปี ข้าวไทยจะเจอวิกฤตแน่นอน เพราะข้าวไทยอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาด การส่งออกข้าวตอนนี้แข่งขันสูงมาก และเห็นว่านโยบายจำนำข้าวเป็นการทำลายตัวเอง ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ผูกขาดการซื้อข้าว