posttoday

ดันแผนทางด่วนแก้รถติด ปีหน้าตอกเสาเข็ม3เส้น6หมื่นล้าน

28 พฤศจิกายน 2561

กทพ.กางแผนโครงการทางด่วนขยายเส้นทางแก้จราจรในเขตเมือง จ่อผุดอีก 3 โครงการระยะยาวลงทุนต่อเนื่อง 1.8 หมื่นล้าน

กทพ.กางแผนโครงการทางด่วนขยายเส้นทางแก้จราจรในเขตเมือง จ่อผุดอีก 3 โครงการระยะยาวลงทุนต่อเนื่อง 1.8 หมื่นล้าน

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในงานครบรอบ 46 ปี กทพ.ว่า จะเดินหน้าดูแลการเดินทางและขยายทางด่วนเพื่อแก้ปัญหาจราจรให้ประชาชนในเขตเมืองในปีที่ 47 โดยมีแผนก่อสร้างโครงการทางด่วน 3 เส้นทางวงเงินลงทุนรวม 6 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการประมูล คาดได้ผู้ลงทุนเดือน ม.ค.-ก.พ. 2562

2.โครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ได้เสนอร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนส่งต่อไปยังคณะกรรมการร่วมทุนพีพีพี โดยจะเปิดประมูลและเริ่มเข้าพื้นที่ในปีหน้า และโครงการสุดท้ายคือโครงการทางด่วนสายเหนือ ตอน N2 ช่วงวงแหวนรอบนอก-แยกเกษตร วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ศึกษาเสร็จแล้วอยู่ระหว่างรอแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

"ตอนนี้เรามีความพร้อมเรื่องเงินทุนจากทีเอฟเอฟแล้ว โครงการต่างๆ ก็พร้อมลงทุนแล้วเช่นกัน จะเดินหน้าโครงข่ายทางด่วนให้การจราจรคลี่คลายมากขึ้นทั้งในเมืองหลวงและหัวเมืองรอง การระดมทุนทีเอฟเอฟที่ผ่านมามีประชาชนร่วมลงทุนเป็นสัดส่วน 50% ยอดรวม 2 หมื่นล้านบาท" นายสุรงค์ กล่าว

สำหรับโครงการในอนาคตมีแผนพัฒนาต่อเนื่องโดยเลือกใช้เงินจากการระดมทุนทีเอฟเอฟ หรือเงินงบประมาณเพิ่มเติมอีก 3 โครงการวงเงินรวม 1.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการขยายทางด่วนบูรพาวิถี-บายพาส-ตัวเมืองชลบุรี ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างจัดส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 2.โครงการพัฒนาทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) วงเงิน 2,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อศึกษาการออกแบบรายละเอียด และ 3.โครงการทางเชื่อมโครงข่ายทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร (Missing Link) วงเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างสรุปแนวทางการลงทุน

ด้านนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการทวงคืนที่ดินบริเวณตลาดหัวมุมว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องฟ้องร้อง บริษัท เนค เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เรื่องละเมิดสัญญาเปิดให้บริการตลาดหัวมุม แม้จะถูกบอกเลิกสัญญาไป 2 ปีแล้วก็ตาม แต่พบว่ายังมีการเก็บค่าเช่าแผงจากผู้ขายรายย่อย โดยได้เรียกร้องค่าเสียหายไป 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเรียกร้องค่าเสียหายที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเช่ารายปีที่กำหนดในสัญญา 18 ล้านบาท/ปี นั้นเป็นไปตามกฎระเบียบขององค์กรและเงื่อนไขผูกมัดที่ได้ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลมีคำสั่งตัดสินสิ้นสุดแล้วจะเข้าพื้นที่เพื่อรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้ง 4 มุมถนนโดยเตรียมก่อสร้างโครงการถนนตัดใหม่หรือบายพาส วงเงิน 200 ล้านบาท บริเวณทางแยกตัดกับถนนประเสริฐมนูกิจ และถนนประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อแก้ปัญหาคอขวดของพื้นผิวจราจร

ภาพประกอบข่าว