posttoday

ผุดแผนลงทุนทางด่วนสายใหม่ ระบายจราจรกรุงเทพฝั่งเหนือ

26 ตุลาคม 2561

การทางพิเศษฯผุดแผนลงทุนทางด่วนสายใหม่ 2 หมื่นล้านช่วงจตุโชติ-ลำลูกการะบายจราจรกรุงเทพฝั่งเหนือ

การทางพิเศษฯผุดแผนลงทุนทางด่วนสายใหม่ 2 หมื่นล้านช่วงจตุโชติ-ลำลูกการะบายจราจรกรุงเทพฝั่งเหนือ

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างการมอบนโยบายให้กับกระทรวงคมนาคมว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ต้องเป็นหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานตามหัวเมืองหลักของประเทศ โดยเฉพาะการศึกษาก่อสร้างทางด่วนสายใหม่ในต่างจังหวัดให้เพิ่มขึ้นรวมถึงต่อขยายทางด่วนเส้นเดิมให้ครอบคลุมพื้นที่ปริมณฑลมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องไปสำรวจแผนพัฒนาทางด่วนในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดที่มีโครงการรถไฟฟ้ารางเบา(แทรม)เพื่อเป็นการเติมเต็มโครงข่ายระบบขนส่งในพื้นที่ กทพ.ยังต้องศึกษาแนวทางในการเข้าไปลงทุนหรือร่วมทุนโครงการก่อสร้างทางด่วนในประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวีเนื่องจากประเทศไทยได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน

นายธิษัณย์ พฤทธิพงศ์ หัวหน้าแผนกวิเคราะห์วิศวกรรมฝ่ายนโยบายและแผน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)กล่าวว่าแผนการพัฒนาทางด่วนในอนาตนั้นจะเน้นต่อขยายเส้นทางรอบเมืองปริมณฑลรวมถึงก่อสร้างทางด่วนสายใหม่เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายในเมืองหลวง โดยเส้นทางที่ศึกษาแล้วเสร็จและขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ได้แก่ โครงการต่อขยายทางด่วนสายฉลองรัชช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 18-20 กม. วงเงินลงทุน 1.8-2หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 1,000 ล้านบาท/กม. โดยใช้รูปแบบเป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร

มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ จากนั้นเลี้ยวไปทางตะวันออกเฉียงเพื่อไปยังจุดสิ้นสุดที่ถนนลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาจราจรบนถนนมอเตอร์เวย์สาย 9 และถนนลำลูกกา ตลอดจนเชื่อมต่อการเดินทางพื้นที่ส่วนเหนือของกรุงเทพไปยังโครงข่ายทางด่วนต่างๆอีกด้วย

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการปรับแผนจากเดิมที่จะก่อสร้างทางด่วนช่วงจตุโชติ-สระบุรี นอกจากนี้ยังมีแผนต่อขยายโครงการทางด่วนบูรพาวิถี ระยะทาง 7-10 กม. วงเงินลงทุน 7 พันล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดที่บริเวณทางเข้านิคมอุตสาหกรรมอมตนคร จ.ชลบุรี จะต่อขยายไปเชื่อมกับทางเลี่ยงเมืองชลบุรี(บายพาส) และต่อขยายไปลงที่ถนนสายบ้านเก่าซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพ-พัทยา ส่วนด้านโครงการพัฒนาโครงข่ายในเมืองหลวงนั้นจะมีโครงการระดมทุนTFF อย่างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนสายเหนือตอน N2 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของเมืองหลวง

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)กล่าวว่าขณะนี้สนข.อยู่ระหว่างทบทวนและพิจารณาแผนแม่บทการพัฒนาทางด่วนระยะ 20 ปี ซึ่งจะต้องดูร่วมกับแผนแม่บทการพัฒนามอเตอร์เวย์เพื่อจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการว่าควรจะพัฒนาเส้นทางใดก่อนในแต่ละพื้นที่ โดยระบบมอเตอร์เวย์นั้นจะรองรับการเชื่อมต่อระหว่างเมืองและในพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ระบบทางด่วนจะเป็นการเสริมโครงข่ายการขนส่งในพื้นที่เมืองหลวงและจังหวัดโดยรอบ โดยตนคิดว่าแผนพัฒนาทางด่วนในต่างจังหวัดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างดีคือ ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง วงเงินลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยทั้งการแก้ปัญหารถติดและลดอุบัติเหตุในพื้นที่

แหล่งข่าวจากกทพ.ระบุว่าแต่เดิมนั้นกทพ.มีแผนต่อขยายและพัฒนาทางด่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดอีก 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการต่อขยายทางด่วนอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา 42 กม. วงเงินลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่จุดเชื่อมต่อกับทางด่วนบางปะอิน-แจ้งวัฒนะที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นแนวจะไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนไปสิ้นสุดที่บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนสายเอเชียที่กม. 40 อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา

2.โครงการทางด่วน จ.ขอนแก่น เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างทิศเหนือและทิศใต้ของจังหวัด ระยะทาง 22.5 กม. และเส้นทางเชื่อมการเดินทางระหว่างทิศเหนือและทิศตะวันออกของเมือง ระยะทาง 14 กม คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท

3.โครงการทางด่วน จ.เชียงใหม่ เส้นทางเชื่อมการเดินทางทิศเหนือและทิศใต้ของจังหวัด ระยะทาง 25 กิโลเมตร และเส้นทางเชื่อมทิศตะวันตกและตะวันออกของจังหวัด ระยะทาง 27 กม.

อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาทางด่วนในสองจังหวัดภาคอีสานแหละภาคเหนือนั้นปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสมในการดำเนินโครงการเนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จำนวนมากทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและวัตถุโบราณ ตลอดจนประสบปัญหาเรื่องการทับซ้อนของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้ารางเบาของทั้งสองจังหวัดจึงไม่แน่ใจว่าปริมาณผู้ใช้จะมีความคุ้มทุนในการก่อสร้างหรือไม่

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าสำหรับโครงการต่อขยายทางด่วนสายฉลองรัชช่วงจตุโชติ-ลำลูกกานั้นได้สั่งการให้สนข.ไปร่วมศึกษาแผนพัฒนาด้วยเช่นกันเพื่อแก้รถติดในพื้นที่ดังกล่าวและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น