posttoday

ค้าปลีกมั่นใจอนาคตสดใส เซเว่นฯยอมรับคนเริ่มเข้าซื้อสินค้าน้อยลงทั่วโลก แนะต้องปรับสู่ร้านค้าอัจฉริยะ

08 กันยายน 2561

ซีพี ออลล์ คาดเศรษฐกิจส่อสัญญาณฟื้นตัว จีดีพี ปี 2562-2565 โต 5% จับตา 5 ยุทธศาสตร์ค้าปลีกไทย เจาะผู้บริโภคยุค 4.0

ซีพี ออลล์ คาดเศรษฐกิจส่อสัญญาณฟื้นตัว จีดีพี ปี 2562-2565 โต 5% จับตา 5 ยุทธศาสตร์ค้าปลีกไทย เจาะผู้บริโภคยุค 4.0

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในช่วง 4 ปีข้างหน้า (2562-2565) คาดการณ์มีทิศทางการเติบโตมากกว่า 5% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เกิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จะมีการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือ จีดีพี เติบโต 5% ส่วนภาพรวมค้าปลีกปีนี้ คาดโตกว่า 3-4%

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีศักยภาพเติบโตปีละ 15-20% ส่งผลให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีสัดส่วน 2-3% ของธุรกิจค้าปลีก ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 4% ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวภายใต้โมเดลออมนิชาแนล ต้องไม่มีเส้นแบ่งออฟไลน์กับออนไลน์ ผสมผสานจุดแข็งของทั้งสองรูปแบบ พร้อมนำเทคโนโลยีและบิ๊กดาต้ามาใช้ เพื่อสู่การเป็นร้านค้าปลีกอัจฉริยะ ที่สร้างประสบการณ์การบริการมากกว่าการซื้อสินค้า

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในยุค 4.0 มีด้วยกัน 5 โมเดลที่ต้องจับตามอง คือ 1.ธุรกิจค้าปลีกเพิ่มบริการออนไลน์แบบส่งถึงบ้าน 2.สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และมารับตามสาขาที่ต้องการ 3.สมาร์ทโฟนกลายเป็นทุกสิ่งของชีวิต พบว่า ช็อปปิ้งผ่านมือถือเติบโตเร็วมาก จากการ ทำโปรโมชั่น 4.การทำโปรโมชั่นผ่านออนไลน์รายบุคคล และ 5.ระบบการชำระเงินดิจทัล โดยมีปัจจัยบวกในปี 2563-2565 มาจากการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต และอี-คอมเมิร์ซมีบทบาทมากขึ้น

"แนวโน้มร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟ เว่นทั่วโลก คนเริ่มเข้ามาซื้อสินค้าน้อยลง รวมทั้งในไทยด้วย สาขาเดิมที่มีอยู่ยังเติบโตแต่ไม่มาก ในแต่ละปีเซเว่นอีเลฟเว่นเติบโต 8-9% แต่แนวโน้มจำนวนการเปิดสาขา ลดลงทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนรูปแบบค้าปลีกขนาดใหญ่ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับผลกระทบสูง จากพฤติกรรมลูกค้าซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ปี 2560 ราว 13.7% เพิ่มเป็น 24.48% ปี 2561 โดยอัตราการซื้อครั้งละกว่า 1,100 บาท" นายปิยะวัฒน์ กล่าว

นายปิยะวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการปรับตัวของเซเว่นอีเลฟเว่น ให้ความสำคัญกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เว็บไซต์ ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง และแคตตาล็อก 7-11 รวมถึงทรู ช็อปปิ้ง เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าสามารถมารับที่สาขาหรือส่งที่บ้านได้ โดยบริษัทใช้จุดแข็งการมีคลังสินค้าทเวนตี้โฟร์ 20 แห่ง และคลังสินค้าของซีพี ออลล์ เพื่อบริการจัดส่งสินค้าได้รวดเร็ว สั่งซื้อเช้าได้รับสินค้าเย็น รวมถึงยังคงใช้พนักงานบริการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี นำโรบอตเข้ามาใช้บริการลูกค้า

สำหรับการปรับตัวธุรกิจค้าปลีกต่างประเทศ เริ่มเข้าสู่การเป็นร้านค้าปลีกอัจฉริยะ อย่างเช่น อเมซอน โก สามารถเข้าไปซื้อสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องชำระเงินสดและไม่มีพนักงานบริการ ส่วน เซเว่นอีเลฟเว่นเกาหลีเริ่มทดลองใช้การ์ดสแกนเข้าร้านและชำระเงินผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีพนักงานให้บริการ ไต้หวันใช้ใบหน้าสแกนเข้าใช้บริการ และเซเว่นอีเลฟเว่นไทยเตรียมสู่ร้านค้าปลีกอัจฉริยะ

ภาพประกอบข่าว