posttoday

ชงแผนตั้งนิคมประดับยนต์

08 พฤษภาคม 2561

อุตสาหกรรมลงพื้นที่ ครม.สัญจร คุยเอกชนชงตั้งนิคมประดับยนต์ในบุรีรัมย์ ชูแผนพัฒนาเหมืองเก่าทำแหล่งเก็บน้ำ

อุตสาหกรรมลงพื้นที่ ครม.สัญจร คุยเอกชนชงตั้งนิคมประดับยนต์ในบุรีรัมย์ ชูแผนพัฒนาเหมืองเก่าทำแหล่งเก็บน้ำ

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ที่ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ โดยประชุมร่วมกับส่วน ราชการและเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน รวมถึงหารือถึงโครงการและสิ่งที่กระทรวงจะเข้าไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของจังหวัด

นายอุตตม กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุรินทร์ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.การฟื้นฟูและพัฒนาเหมืองแร่ โดยนำเหมืองเก่าที่ได้เลิกกิจการแล้วมาฟื้นฟูเป็นอ่างเก็บน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ หรือสุรินทร์โมเดล ในระยะแรกจะดำเนินการในพื้นที่ 27 ไร่ จุน้ำ 6 แสนลูกบาศก์เมตร โครงการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในการช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม 2.โครงการ Inland Container Depot (ICD) ใน จ.นครราชสีมา ที่กระทรวงจะช่วยต่อยอดได้ เช่น พัฒนาเป็นเขตประกอบการโกดังการซ่อมตู้คอน เทนเนอร์ และโครงการด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม

ข้อเสนอ 3.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุปกรณ์ประดับยนต์ (Motor Sport) ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพราะมีสนามแข่งรถมาตรฐานระดับโลก และมีการนำรถเข้ามาแข่งในพื้นที่จำนวนมาก ประกอบกับเอสเอ็มอีไทยมีความสามารถผลิตอุปกรณ์ประดับยนต์ส่งออกไปยังต่างประเทศหลายประเทศโดยมีมูลค่าการผลิตกว่า 5 หมื่นล้านบาท

"กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้านยานยนต์สูง ผนวกกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ทำให้อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ เติบโตขึ้นตามไปด้วย"

นายสมชาย กล่าวว่า แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 1 ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนศูนย์กลางเกษตรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไหม ท่องเที่ยวอารยธรรม และการค้าชายแดน โดยจะพัฒนาขีดความสามารถในการ แข่งขันเกษตรอุตสาหกรรมและแปรรูป ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ไหม และการส่งเสริมและพัฒนาการค้าการลงทุน และการค้า ชายแดน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีเครื่องมือทางการเงิน 4 ประเภท คือ กองทุนพัฒนาศักยภาพฯ 1 หมื่นล้านบาท กองทุนเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก 8,000 ล้านบาท สินเชื่อโลคอล อีโคโนมีโลน และสินเชื่อทรานส์ฟอร์เมชั่นโลน ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อกองทุนไปแล้วทั้งหมด 34 ราย วงเงิน 86 ล้านบาท