posttoday

คมนาคมเคาะราคาไมโครบัสคันละไม่เกิน2.2ล้านบาท

08 พฤษภาคม 2560

คมนาคมเคาะราคาไมโครบัส 2.2 ล้านบาทคืนทุนภายใน 3ปี หากดำเนินการครบ 7 ปีฟันกำไร 4.36 ล้านบาท แหล่งเงินทุนเคาะดอกเบี้ยต่ำกว่า 5%

คมนาคมเคาะราคาไมโครบัส 2.2 ล้านบาทคืนทุนภายใน 3ปี หากดำเนินการครบ 7 ปีฟันกำไร 4.36 ล้านบาท แหล่งเงินทุนเคาะดอกเบี้ยต่ำกว่า 5%

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้นำข้อสรุปมาตรการความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารไมโครบัสร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศซึ่งมีมติว่าราคารถจะอยู่ที่คันละประมาณ 1.7-2.2 ล้านบาท โดยเมื่อตีราคารถที่เต็มเพดานคือ 2.2 ล้านบาท ใช้รูปแบบการดาวน์ 25% ของราคารถ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระดอกเบี้ยอีก 4.95 แสนบาท(ดอกเบี้ย 5%ต่อปี) รวมราคารถไมโครบัสแบบผ่อนจะอยู่ที่ราว 2.695 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อประมาณความคุ้มค่าของผู้ประกอบการนั้นจะพบว่า ระยะเวลาคืนทุน 2.8 ปี หรือราว 32 เดือน ด้วยอัตราผู้โดยสาร 60% ต่อเที่ยว พร้อมกับกำไรจากกิจการเดินรถ 7 ปี รวม 4.36 ล้านบาท จากเงินลงทุน 550,000 (เงินดาวน์) คิดเป็นผลตอบแทนจากเงินทุน 792% หรือ 113% ต่อปี

อย่างไรก็ตามในส่วนของอัตราเพดานดอกเบี้ยนั้นภายหลังจากหารือร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 10 แห่ง โดยเบื้องต้นแนวโน้มดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะไม่ถึง 5% เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถลดดอกเบี้ยได้ต่ำสุดเหลือ 3% ต่อปี ขณะที่บริษัท เอเชียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ดอกเบี้ยอยู่ที่ 4% ต่อปี เป็นต้น แต่ทางธนาคาร และสถาบันการเงินฯ อยากให้การกู้เงินมาในรูปของนิติบุคคล หรือกลุ่มสหกรณ์ และขอให้ช่วยตรวจสอบประวัติคนขับรถด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการกู้เงิน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนทาง บสย. ก็พร้อมที่จะค้ำประกันวงเงินกู้ได้แต่ต้องเป็นกรณีของนิติบุคคล หากเป็นการเช่าซื้อยังไม่สามารถค้ำประกันได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและแหล่งเงินทุนยังแสดงความกังวลถึงความจริงจังในนโยบายไมโครบัสของกระทรวงคมนาคม ซึ่งตนได้ยืนยันไปแล้วว่านโยบายนี้ต้องดำเนินการต่อไปแน่นอน โดยรถตู้ทุกคันที่หมดอายุสัมปทาน จะต้องเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสซึ่งภายในปี 2565 รถตู้ส่วนใหญ่จะต้องถูกแทนที่ด้วยไมโครบัส จากจำนวนรถตู้ที่หมดอายุสัมปทานจำนวน 11,194 คัน หรือประมาณ 70% ของรถตู้ทั้งหมดในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากทุกคันตัดสินใจเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส วงเงินกู้รวมจะอยู่ที่ประมาณ 24,626 ล้านบาทโดยคิดจากวงเงินปล่อยกู้ 2.2 ล้านบาทต่อคันให้กับผู้ประกอบการที่จะหมดอายุรวม 11,194 คัน โดยจะเสนอรายละเอียดและเงื่อนไขทางด้านการเงินในการจัดซื้อรถไมโครบัสให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาในวันที่ 15 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ได้มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปพิจารณาหาเส้นทางใหม่ไว้ให้สำหรับผู้ประกอบการรถตู้ด้วย เพราะหากจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวไม่ถึง 60% จะทำให้ผู้ประกอบการรถตู้ขาดทุน และอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไปไม่ได้ เช่น เดิมมีรถตู้วิ่งในเส้นทางนี้ 5 คัน แต่หากใช้รถไมโครบัส และผู้โดยสารไม่ถึง 60% ก็อาจให้วิ่งเส้นทางนี้แค่ 3 คัน ส่วนที่เหลือไปวิ่งในเส้นทางใหม่ เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการขายคืนรถตู้นั้น ทางกรมการขนส่งทางบก ได้หารือกับสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่ง โดยสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยพร้อมรับรถซื้อรถตู้เก่าในราคาคันละประมาณ 5.5แสนบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้ผู้ประกอบการรถตู้จะสามารถนำเงินมาดาวน์รถไมโครบัสได้ อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะเป็นรถไมโครบัส เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการโดยสารและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่กำหนดว่าในระยะแรกได้มอบให้ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นหน่วยงานที่จะนำร่องจัดหารถไมโครบัสมาออกวิ่งให้บริการแก่ประชาชนก่อน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ก.ค.นั้น ขณะนี้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดการ บขส. คนใหม่ จึงยังไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าวร่วมกัน แต่ในหลักการยังคงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้ที่จะให้บริการประชาชนได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้

นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บขส. ต้องรอความชัดเจนเรื่องราคารถไมโครบัสและการช่วยเหลือจากกระทรวงคมนาคมก่อน จึงสามารถเสนอโครงการจัดซื้อไมโครบัสนำร่อง 55 คันให้คณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. พิจารณาได้ ถ้าบอร์ดเห็นชอบแล้วก็จะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป แต่เบื้องต้นคงนำรถมาวิ่งให้บริการไม่ทันวันที่ 1 ก.ค. นี้ตามกรอบเดิม