posttoday

"เยลโล่เพจเจส" ปฏิวัติสู่โลกดิจิทัล

12 มกราคม 2560

แนวโน้มของสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการเปลี่ยนแปลงของโลกเข้าสู่ดิจิทัล

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งเยลโล่เพจเจส หรือที่รู้จักและเรียกกันติดปากว่า สมุดหน้าเหลือง ยังต้องเผชิญกับความท้าทายโลกของดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคจากพฤติกรรมอ่านสิ่งพิมพ์น้อยลง และเลือกเสพสื่อผ่านทางเว็บไซต์ สมาร์ทโฟน

แนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้เยลโล่เพจเจสในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการทรานส์ฟอร์มจากสื่อสิ่งพิมพ์ สู่การเป็นสื่อไดเรกทอรี่ส์ออนไลน์

ชุติเดช ปริญฐิติภา กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย ผู้จัดทำสมุดหน้าเหลืองไทยแลนด์ (เยลโล่เพจเจส) เปิดเผยว่า แนวโน้มของสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการเปลี่ยนแปลงของโลกเข้าสู่ดิจิทัล สร้างผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทยังมาจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ 50% ขณะที่ทางออนไลน์มีสัดส่วนรายได้ 10% และที่ 40% คอลเซ็นเตอร์

นั่นคือ โจทย์ใหญ่ของเยลโล่เพจเจสที่ต้องทรานส์ฟอร์มจากสื่อไดเรกทอรี่ส์สิ่งพิมพ์มาสู่ไดเรกทอรี่ส์ออนไลน์ แม้ว่าขณะนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างจังหวัดยังคงนิยมใช้สมุดหน้าเหลืองอยู่ก็ตาม แต่ในกลุ่มเป้าหมายคนเมืองส่วนใหญ่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ผ่านทางออนไลน์หรือเว็บไซต์ www.yellowpages.co.th แล้ว

ปัจจุบันบริษัทจึงอยู่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนถ่าย เพื่อเดินหน้าไปสู่ธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้รายได้บริษัทกลับมาเป็นบวกในอนาคต

“ก่อนหน้านี้ที่เยลโล่เพจเจสมุ่งพัฒนาสู่เว็บไซต์ บริษัทเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อต่อยอดจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสมุดหน้าเหลืองเป็นสื่อพิมพ์มาร่วม 30 ปี เริ่มมีแผนกคอลเซ็นเตอร์จำนวน 500-600 ราย เพื่อให้บริการข้อมูลต่างๆ”

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งพนักงานแผนกบริการลูกค้า เพื่อนำข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้บริการมานานมาวิเคราะห์ พร้อมกับแจ้งเตือนในช่วงเวลาต้องสั่งสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการสูงสุด และเป็นการทำธุรกิจที่สามารถจับต้องได้มากกว่าการเป็นแค่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์

สำหรับการทรานส์ฟอร์มสู่สื่อดิจิทัล บริษัทได้เริ่มปรับตัวในช่วง 3 ปี โดยเข้าสู่สื่อดิจิทัลเริ่มจากการพัฒนาเว็บไซต์ www.yellow
pages.co.th และได้เริ่มสำหรับการพัฒนาแค็ตตาล็อกออนไลน์ เพื่อที่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ค้นหาข้อมูลออนไลน์ที่ต้องการค้นหาเจาะจงสินค้าและบริการมากขึ้น โดยรูปแบบแค็ตตาล็อกออนไลน์ของบริษัทจะเป็นเสมือนตลาดกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อให้ไปถึงตัวสินค้าและผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกันในช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนา DVD Thailand YellowPages 2016 “รูปแบบใหม่ ค้นหาง่าย” โดยรวมเบอร์โทรศัพท์ธุรกิจสินค้าและบริการทั่วไทยให้กับผู้ที่สนใจ เป็นการปูทางผู้ใช้งานจากสิ่งพิมพ์ไปสู่ออนไลน์

“หากเราปลุกออนไลน์ทั้งจากแพลตฟอร์มเว็บ รวมไปถึงบนโมบาย ยังไม่รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นด้วยแล้ว รายได้จากธุรกิจออนไลน์จะมาทดแทนรายได้จากธุรกิจหลัก คือ สิ่งพิมพ์ในปัจจุบันได้”

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมแค็ตตาล็อกออนไลน์จำนวน 1,000 บริษัท มีสินค้าแสดงอยู่ประมาณ 2 หมื่นรายการ แต่ยังไม่สามารถซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ (อี-คอมเมิร์ซ) โดยบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็น
รูปธรรมและใช้ได้จริงภายในปี 2561

ชุติเดช กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการวางแผนเพิ่มคอนเทนต์แค็ตตาล็อกออนไลน์ โดยปัจจุบันมีสินค้าในแค็ตตาล็อกออนไลน์กว่า 5 หมื่นรายการ และมีบริษัทเข้าร่วมแล้วประมาณ 3,000 บริษัท เพื่อผลักดันให้มีผู้ใช้งานเพิ่มจากกว่า 85 ล้านครั้ง เป็น 100 ล้านครั้ง จากปัจจุบันติดอันดับ 1 ใน 5 ของหมวดธุรกิจ โดยมี บีอีซี เทโร เป็นอันดับหนึ่ง

ในอนาคตข้างหน้าเยลโล่เพจเจส หรือสมุดหน้าเหลืองอาจเป็นแค่ตำนานเท่านั้น ด้วยข้อจำกัดความหนาของสมุด การใช้งานที่หาได้ยาก และยิ่งยุคดิจิทัลด้วยแล้ว กลุ่มคนรุ่นเจเนอเรชั่นวายและแซด ที่เกิดและโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี อุปกรณ์ต่างๆ จึงต้องเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตทุกอย่าง

แต่เส้นทางในปัจจุบันเยลโล่เพจเจส ยังคงต้องทำธุรกิจบนเส้นคู่ขนานกันระหว่าง สื่อสิ่งพิมพ์กับการพัฒนาเว็บไซต์ควบคู่กัน เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าๆ และเดินหน้าขยายฐานคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทางรอดและหาที่ยืนให้ได้ในธุรกิจที่อยู่บนโลกดิจิทัล

\"เยลโล่เพจเจส\" ปฏิวัติสู่โลกดิจิทัล

ย้อนความจำ สมุดหน้าเหลือง

เยลโล่เพจเจส หลายประเทศทั่วโลกใช้เป็นสมุดโทรศัพท์ประเภทไดเรกทอรี่ส์ รวบรวมรายชื่อธุรกิจ สินค้า และบริการ ที่เรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ แจกจ่ายไปตามบ้านเรือน ที่พักอาศัย บริษัท ห้างร้าน และแหล่งธุรกิจต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ถือว่าเป็นสื่อโฆษณาแบบรายปี

แรกเริ่มเดิมที สมุดหน้าเหลืองถูกพิมพ์ครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา บนกระดาษสีเหลืองคุณภาพต่ำด้วยความจำเป็นด้านต้นทุน เนื่องจากต้องพิมพ์ เป็นจำนวนมาก แม้ปัจจุบันสมุดหน้าเหลืองจะใช้กระดาษคุณภาพมาตรฐานที่มีสีขาวย้อมเหลืองแล้วก็ตาม คนทั่วไปก็ยังคง จำภาพลักษณ์ของสมุดโทรศัพท์ประเภทไดเรกทอรี่ส์ว่า เยลโล่เพจเจส

หลังจากเยลโล่เพจเจส เป็นที่นิยม และธุรกิจสมุดหน้าเหลืองเข้าสู่ไทย ภายใต้บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย ก่อนหน้านี้บ้านเราก็มีสมุดหน้าขาว หรือไวท์เพจเจส ก็พิมพ์ บนกระดาษสีขาวโดยตัวสมุดจะเป็นการรวบรวมรายชื่อบุคคล (หรือธุรกิจ) ที่เรียงตามลำดับ ตัวอักษร ก-ฮ