posttoday

ถึงเวลาหันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย

26 สิงหาคม 2553

ทางออกสำหรับองค์กรควรเริ่มตั้งแต่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์โดยซื้อซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมาย ควรมีการกำหนดการจัดการด้านซอฟต์แวร์ภายในองค์กร....

ทางออกสำหรับองค์กรควรเริ่มตั้งแต่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์โดยซื้อซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมาย ควรมีการกำหนดการจัดการด้านซอฟต์แวร์ภายในองค์กร....

โดย...พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์

การใช้งานคอมพิวเตอร์ขยายตัวมากขึ้นเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกดิจิตอลสามารถส่งผ่านถึงกันได้หมด ผู้ใช้งานก็เข้าถึงได้เช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ สิ่งผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิ์ก็ทำได้ง่ายขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยที่หลายๆ คนที่หลงอยู่กับของฟรีที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นไม่ได้รู้ตัวว่ามีภัยเข้ามาเคาะที่หน้าประตูคอมพิวเตอร์แล้ว

ถึงเวลาหันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย

เมื่อพูดถึงของฟรีผิดกฎหมายในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ซอฟต์แวร์ เป็นหนึ่งในของฟรียอดนิยมที่หลายๆ คนต้องเคยแสวงหามาใช้กัน ทั้งผ่านการซื้อแผ่นก๊อบปี้ ราคา 100–250 บาทต่อแผ่น หรือจะดาวน์โหลดมาแบบฟรีๆ ตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็ตามแต่ ซึ่งหากนึกถึงวลีเด็ดที่ว่า “ของฟรีไม่มี ของดีไม่ถูก” แล้วละก็ ควรคิดให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง เพราะผลเสียที่ตามมา|มากมายกว่ากันเยอะ ดังนั้นควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ก่อนตัดสินใจ

วารุณี รัชตพัฒนากุล ที่ปรึกษาประจำประเทศไทย กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ กล่าวว่า อันดับแรกการเลือกและการซื้อซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรต่างๆ ต้องดูความต้องการใช้งานเป็นหลักว่าแต่ละแผนกทำงานประเภทใด และต้องการใช้งานซอฟต์แวร์ประเภทใด ต้องเลือกซอฟต์แวร์ที่น่าเชื่อถือและผู้จัดจำหน่ายที่มีความชัดเจน ซอฟต์แวร์ต้องสามารถทำงานเข้ากับระบบของออฟฟิศได้ ดูการลงทุนระยะยาวและการให้บริการหลังการขาย ไม่ใช่ดูเพียงราคาที่ซื้อเฉพาะหน้าเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการซื้อผ่านอินเทอร์เน็ตที่ไม่น่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญสำหรับองค์กรคือข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจ ปัจจุบันภัยต่อข้อมูลเหล่านี้มีไม่น้อยที่แฝงตัวมากับซอฟต์แวร์ที่ดาวน์โหลดมาติดตั้งอย่างไม่ถูกกฎหมาย เช่น มัลแวร์ บอทเน็ต โอกาสที่จะโดนล้วงข้อมูล หรือเข้ามาทำลายข้อมูลจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูง หรือหากไม่มีปัญหาเหล่านี้ก็ยังเสี่ยงต่อการเสียหาย เช่น เมื่อมีปัญหาแต่ไม่มีการบริการจากผู้จำหน่ายที่ไม่ได้มาตรฐาน ซอฟต์แวร์ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบได้ กลายเป็นว่าซื้อของได้ในราคาถูก แต่เสียหายในระยะยาว

ทางออกสำหรับองค์กรควรเริ่มตั้งแต่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์โดยซื้อซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมาย ควรมีการกำหนดการจัดการด้านซอฟต์แวร์ภายในองค์กร เช่น จัดทำบัญชีซอฟต์แวร์ในแต่ละเครื่องและมีการตรวจสอบว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนนี้ต้องผ่านการวิเคราะห์แล้วว่าซอฟต์แวร์ใดเป็นที่ต้องการใช้งานบ้าง จะได้ลดการซื้อซอฟต์แวร์ที่ไม่จำเป็น เช่น แผนกด้านกราฟฟิก อาจจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบ ขณะที่แผนกอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งองค์กรสามารถซื้อจำนวนใบอนุญาต หรือไลเซนส์ให้เพียงพอกับการใช้งานเท่านั้น โดยขั้นตอนดังกล่าวอาจกำหนดให้มีแผนกใดแผนกหนึ่งเป็นฝ่ายจัดซื้อซอฟต์แวร์ และหากมีความต้องการใช้งานเพิ่มเติม หรือถึงเวลาต่ออายุใบอนุญาตใช้งานแล้ว ก็ให้ทำเป็นแบบฟอร์มแจ้งต่อแผนกที่รับผิดชอบ

“เราใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วความเสียหายต่อองค์กรเกิดขึ้นมาก ความเสียหายที่เกิดกับประเทศก็มากเช่นกัน เพราะยิ่งลดการละเมิดได้มากเท่าไร ก็เป็นภาษีที่เข้าประเทศ หรือถ้าคิดให้ง่ายกว่านั้น ถ้าเราผลิต|ผลงานใดก็ตามของตัวเองขึ้นมาและพบว่ามีผู้อื่นมาละเมิด ทำซ้ำ ไปจำหน่ายหรือแจกจ่ายต่อ ทำให้เราเสียหายเราก็ย่อมไม่พึงพอใจ ในทางเดียวกันเรานำซอฟต์แวร์ของผู้อื่นมาใช้งานฟรี ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน” วารุณี กล่าว

ส่วนการจัดการซอฟต์แวร์ของผู้ใช้งานส่วนบุคคล ปัจจุบันมีการโจรกรรมข้อมูลมากขึ้น เพราะผู้ใช้ไม่รู้ว่ามีภัยที่แฝงมาด้วย ในประเทศไทยอาจเพิ่งเริ่มเห็นปัญหานี้ เช่น การใช้บริการธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการเก็บข้อมูลส่วนตัวไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว

ถึงเวลาหันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย

ภาคภูมิ เอี่ยมจิตกุศล ผู้เชี่ยวชาญด้านโอเพนซอร์ส สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า กล่าวว่า ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มีราคาต่ำลงมากในช่วงปีที่ผ่านมา วินโดวส์ 7 จากไมโครซอฟท์ ราคาเริ่มต้นที่กว่า 3,000 บาท หรือออฟฟิศ 2010 ราคาก็เริ่มต้นไม่สูงนักเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ถ้ายังรู้สึกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ทางเลือกที่น่าสนใจคือหันมาใช้โอเพนซอร์ส ปัจจุบันมีให้เลือกตั้งแต่ โอเพนออฟฟิศสำหรับใช้พิมพ์งานเอกสารต่างๆ เช่นเดียวกับออฟฟิศ 2010 โปรแกรมกริมพ์และอิงก์สเปซที่ใช้สำหรับออกแบบและตกแต่งรูปภาพ ที่แม้จะเทียบซอฟต์แวร์จากค่ายอโดบีไม่ได้ แต่ถ้าเป็นงานทั่วไปก็สามารถใช้งานได้

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมวีแอลซีสำหรับใช้อ่านไฟล์วิดีโอได้แทบทุกรูปแบบ ซึ่งถือว่าอาจจะดีกว่าโปรแกรมที่ต้องซื้อในตลาดอีกด้วย โปรแกรมเอวีราสำหรับป้องกันไวรัส และโปรแกรมอินฟราเรคอร์เดอร์สำหรับบันทึกข้อมูลลงผ่านดีวีดี อีกทั้งยังมีระบบปฏิบัติการของอูบันทู ที่ซิป้าได้พัฒนาสุริยันขึ้นมาให้นำไปใช้งานได้ฟรีทั้งหมด หรืออย่างต่ำที่สุดเมื่อซื้อวินโดวส์ 7 โฮมพรีเมียม ราคา 3,777 บาทก็ถือว่าราคาต่ำมากแล้วกับการใช้งานสินค้าถูกกฎหมาย

พิพัฒน์ ทองผดุงโรจน์ ที่ปรึกษากฎหมายซิป้า กล่าวว่า ซิป้าอยู่ระหว่างหารือร่วมกับภาคเอกชนที่สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าเวลาซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ จากเดิมที่ลูกค้าต้องการลงซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้เปลี่ยนมาลงซอฟต์แวร์สุริยันจันทราแทน โดยจะเริ่มปรับใช้ในปีงบประมาณ2554 เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ในระดับหนึ่ง

“ที่ผ่านมาพอมีการร้องขอให้ติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ ผู้จำหน่ายก็เลือกติดตั้งสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างน้อยต่อไปถ้าติดตั้งโอเพนซอร์สการละเมิดน่าจะลดลงได้ระดับหนึ่ง” พิพัฒน์ กล่าว