posttoday

ชงมาตรการสกัด "ล้ง" ผูกขาด

01 สิงหาคม 2559

“พาณิชย์” ชงทางแก้ปัญหาล้ง เพิ่มช่องทางค้าออนไลน์ จับมือรัฐวิสาหกิจจีนเจาะตลาดผลไม้

“พาณิชย์” ชงทางแก้ปัญหาล้ง เพิ่มช่องทางค้าออนไลน์ จับมือรัฐวิสาหกิจจีนเจาะตลาดผลไม้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาการตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ของผู้ประกอบการชาวต่างชาติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมจากมาตรการที่หน่วยงานต่างๆ ได้มีการบังคับใช้มาก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจุบันยังพบว่าผลไม้เศรษฐกิจของไทย เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง ลิ้นจี่ เงาะ ส่งออกไปต่างประเทศคิดเป็น 70-80% จากที่ผลิตได้นั้น มีการครอบงำตลาดผลไม้ของธุรกิจโรงคัดบรรจุผลไม้ของผู้ประกอบการชาวจีน ตั้งแต่การปลูก การตัด การบรรจุ การขนส่ง และการส่งออก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ได้มีการตรวจสอบข้อมูลคัดกรองโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ โดยพบว่ามีผู้ประกอบการล้งที่เป็นคนต่างด้าวจำนวน 5 ราย และมีสถานะเป็นนิติบุคคลไทยที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงที่อาจใช้คนไทยถือหุ้นแทน จำนวน 95 ราย ซึ่งแม้ว่าในระยะสั้นจะทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันมากขึ้น เกษตรกรได้รับราคาที่สูงขึ้น ไม่เกิดผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ แต่ในระยะยาวอาจมีผลให้พ่อค้าไทยที่เงินทุนน้อยหายไป และพ่อค้าคนจีนที่เข้ามาอาจสามารถรวมตัวกันกดราคาจากเกษตรกรได้”แหล่งข่าว ระบุ

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาแบ่งมาตรการเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ต้นน้ำ คือการวางแผนแก้ปัญหาในระดับการผลิต โดยเกษตรกรต้องมีการพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและรักษาคุณภาพสินค้า เพื่อให้ผลไม้มีราคาดีตรงความต้องการตลาดอยู่เสมอ ระดับที่ 2 ระดับกลางน้ำ คือส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มสหกรณ์ให้เข้มแข็ง โดยสมาชิกสหกรณ์มีการวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกันเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และระดับที่ 3 การแก้ปัญหาในระดับปลายน้ำ ควรมีการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ โดยการสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน โดยร่วมหุ้นส่วนธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจของจีน เป็นต้น

ขณะที่มาตรการอื่นๆ ที่จะนำมาใช้ เช่น ให้เกษตรกรรวมกลุ่มและทำการซื้อขายสินค้าเกษตรแบบออนไลน์เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายไปทั่วโลก ซึ่งจะลดการพึ่งพิงล้งและพ่อค้าคนกลาง การสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและทำตลาด และกำหนดให้ผู้ส่งออกผักและผลไม้ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก โดยผู้ที่จะขึ้นทะเบียนต้องมีใบรับรองแหล่งผลิตที่ส่งออก (GAP) และมาตรฐานโรงคัดบรรจุ (GMP) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าเกษตรไทย