posttoday

Line ในมือ "อริยะ" ควบรวมแอพ-เน้นสร้างนวัตกรรม

27 ตุลาคม 2558

ปีหน้า ไลน์จะปะติดปะต่อทุกสินค้าเข้าด้วยกันมาเชื่อมต่อกันเพื่อให้ทำงานได้เยอะมาก

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

หลังจากเป็นข่าวลือมานานกว่าหลายเดือนและประกาศมาล่วงหน้า 1 เดือนถึงการเข้ามานั่งในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการคนแรก ของ อริยะ พนมยงค์ ซึ่งได้รับการทาบทามจากบริษัทแม่อย่าง Naver ที่เกาหลี ครั้งนี้ก็พร้อมเปิดใจอย่างเป็นทางการ

อริยะ พนมยงค์ เปิดใจอย่างเป็นทางการว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวหลุดออกมาว่าจะลาออกจาก Google ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่ก่อตั้งมานานกว่า 13 ปี มานั่งในบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง ไลน์ ที่เริ่มเข้ามาทำธุรกิจออนไลน์เพียง 4 ปี

“เหตุผลที่ย้ายออกมา ตั้งแต่ประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงย้ายจากกูเกิลมาที่นี่ เพราะผมอยู่ที่เดิมมา 4 ปีตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น และมีหลายสิ่งที่อยากทำและได้ทำไปแล้ว คือ ปักธงแบรนด์กูเกิลในไทย สร้างออฟฟิศ สร้างทีมงาน และรู้สึกว่าสิ่งที่อยากจะทำ ได้ทำไปหมดแล้ว และตอนนี้บริษัทเก่าก็มีแนวโน้มที่ดีแน่นอน จนรู้สึกว่าความท้าทายลดลง เมื่อเทียบกับยุคเริ่มต้นเมื่อ 4 ปีแรก ซึ่งตอนนี้กูเกิลมีฐานที่ดีแล้ว คนที่มาแทนก็โชคดี เพราะบริษัทมีความแข็งแรงและมั่นคง สำหรับผม การเลือกเข้ามาทำงานใน ไลน์ ดูมีความท้าทาย สิ่งที่คิดมีอยู่ 2-3 เรื่อง คือ เทรนด์พฤติกรรมการใช้งานโมบายและสมาร์ทโฟน คนจะเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากขึ้น ไลน์เป็นบริษัทที่เกิดจากโมบาย ไดเรคชั่นของทุกธุรกิจมุ่งเน้นไปที่โมบายหรือสมาร์ทโฟน และไลน์เป็นบริษัทที่เกิดจากสิ่งนี้เลยและทำภาพรวมธุรกิจออกมาได้ดี การที่ผมทำงานด้านออนไลน์ มาก็จะได้เห็นสิ่งที่เติบโตจากไลน์ได้ชัดเจน และดึงดูดผม" อริยะ กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องของโอกาสในการนำเสนอความคิดก็ช่วยกระตุ้นไฟและความท้าทายที่ต้องการ ผมมองว่าข้อดีคือไลน์มีสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานค่อนข้างมาก ทั้งเกม มิวสิค ทีวี อีคอมเมิร์ซ สติกเกอร์ เรียกว่าแตะทุกด้านของดิจิทัลอีโคซิสเต็มส์ ซึ่งที่เดิมเน้นแค่การดูธุรกิจเสิร์ชเอนจิ้นและบีทูบีมากกว่า ด้วยความที่ไลน์เป็นสตาร์ทอัพ คือยังเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ การมาที่นี่จะมีโอกาสที่จะสร้างสินค้าให้คนไทย ใช้งานได้ง่ายและทีมไลน์ก็เปิดโอกาสด้านไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เสมอ ไม่ใช่แค่สร้างธุรกิจ แต่สร้างทุกอย่างได้เลย ขอบเขตการทำงานกว้างกว่าเยอะ

Line ในมือ "อริยะ" ควบรวมแอพ-เน้นสร้างนวัตกรรม

"สินค้าที่เราจะทำในปีหน้า ไม่ใช่แค่ด้านเดียว แต่จะปะติดปะต่อ ทุกสินค้าเข้าด้วยกัน มาเชื่อมต่อกัน เพื่อให้ทำงานได้เยอะมาก และไม่ได้มาจากด้านเดียว เพราะรูปแบบการทำงานจะมาจากการผนวกทุกบริการที่มี จนเกิดเป็นความท้าทาย โครงสร้างสินค้าต่างๆ เกม คอนเทนต์ (มิวสิค, ทีวี, สติกเกอร์) เพย์เม้นท์ ทีมบีทูบี เป็นทีมหลักที่มี และที่เหลือเป็นทีมงานสนับสนุน หลังจากนี้ เป็นการทำงานร่วมกันที่สำคัญมากกว่า ซึ่งทุกธุรกิจของบริษัทล้วนเป็นพระเอกทั้งสิ้น และเรามีหน้าที่ในการตัดสินใจในสิ่งที่คิดว่าสามารถทำได้เลย เช่น ไลน์ทีวี เป็นแพลตฟอร์มที่วางไว้ แต่กลับนำมาใช้งานในไทยเป็นที่แรก เพราะมีโอกาสในการเติบโต และในไตรมาสนี้จะมีบริการใหม่เกิดขึ้นมา ช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า น่าจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น คาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นเลย ไม่เกี่ยวกับทั้ง 4 ด้านก่อนหน้านี้"

โดยหลังจากนี้ไปในอีก 2-3 ปี ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ก้าวเข้ามาในตลาดออนไลน์จะชนะหรือแพ้ก็จะเห็นชัดเจนขึ้น เพราะจำนวนผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ตกว่า 83% นั้น ล้วนเป็นผู้ใช้งานไลน์ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก จนทำให้เกิดการแข่งขันของรายใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ทางบริษัทเองก็มีแผนการร่วมมือกันกับพาร์ทเนอร์ ยังมีหลายรายที่อยากเข้ามาคุยด้วย กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาอยู่ ส่วนหนึ่งก็อยากจะเห็นภาพตลาดให้มีความพร้อมก่อน

"สำหรับเป้าในการเติบโต เรากำลังอยู่ช่วงจังหวะวางแผนงานของปี 2016 ผมอยากที่จะเสนอแผนงานการเติบโตเข้าไปมากกว่า ที่จะรอแผนจากบริษัทแม่ อาจจะยังมีในเรื่องของธุรกิจคอนเทนต์ อีคอมเมิร์ซ บีทูบี เกม และเพย์เม้นท์ ตามหน่วยเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจะยึดแชทเป็นตัวกลางในการดึงคอนเทนต์ทุกอย่าง ตอนนี้อาจจะยังไม่มีเป้าตัวเลขด้านการเติบโต แต่มุ่งเน้นการตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกอย่างมากกว่า"

อริยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับบริการต่างๆ ที่ชนกับยักษ์ใหญ่อเมริกาอย่าง เฟสบุค ถือว่าเป็นสีสัน เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ดี และต่างฝ่ายก็จะเร่งพัฒนาสินค้าที่ดีออกสู่ตลาด

“ผมมองว่า การแข่งขันไม่ว่าใครเป็นคู่แข่งถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทุกตลาดจะช่วยกันให้เติบโต เช่น ตลาดดิจิทัลเติบโตดีกว่าเดิมก็เพราะมีการแข่งขันจากรายใหญ่และรายย่อย เห็นได้จากเดิมที่ไทยแทบไม่มีการเข้ามาตั้งสาขาในกลุ่มธุรกิจออนไลน์เลย ตอนนี้ กลับมามีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 6% แล้วเพราะการแข่งขันทำให้ทุกคนเข้ามาช่วยให้ตลาดเติบโต ยังเหลือโอกาสแข่งขันอีกว่า 94% เราจึงควรช่วยกันให้เกิดการแข่งขันเพื่อที่ประเทศของเราจะได้มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต"