posttoday

'วราเทพ'ยันรัฐไม่เลือกปฏิบัติอุ้มยาง

31 สิงหาคม 2556

'วรเทพ'ล่องใต้ยืนยันรัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติแทรกแซงยาง ด้านผู้ว่าฯสุราษฎร์ถกผู้นำท้องถิ่นรับมือม็อบยางปิดถนน 3 ก.ย.นี้

'วรเทพ'ล่องใต้ยืนยันรัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติแทรกแซงยาง ด้านผู้ว่าฯสุราษฎร์ถกผู้นำท้องถิ่นรับมือม็อบยางปิดถนน 3 ก.ย.นี้

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างลงพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานีว่า การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โคออป) จำกัด อ.พุนพิน คาดว่า หลังจากนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์  ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการเสนอมาตรการผ่านคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ(กนย.)มาแล้ว ทาง คณะรัฐมนตรี (ครม.)จะพิจารณาอนุมัติตามนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักเกณฑ์ที่ได้ขออนุมัติผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ครม.ไปช่วยที่จะช่วยเหลือผู้ปลูกยางในเรื่องค่าใช้จ่ายไร่ละ 1,260 บาท และมีมาตรการเพิ่มขึ้นจากการประชุมเมื่อวันที่ 30 ส.ค.56 เป็นเรื่องการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนเซสในราคากิโลกรัมละ 2 บาทเป็นระยะเวลา 4 เดือน คงจะช่วยให้การเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกยางได้เบาใจ อย่างไรคงต้องมีการหารือกันต่อ

นายวราเทพ กล่าวว่า อยากจะฝากว่ารัฐบาลไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติในการช่วยเกษตรกรแตกต่างกันเลยไม่ว่าจะเป็นพืชใดก็ตาม มีข้อครหาว่าทำไมรัฐบาลใช้เงินไปทุ่มเทช่วยในเรื่องข้าวจำนวนหลายแสนล้าน ทำไมเรื่องของยางจึงช่วยไม่ได้ อยากจะเรียนว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอาจจะมีมาตรแตกต่างกัน ถ้าจะนำเรื่องเงินมาวัดจำนวนว่าเงินต้องเท่ากันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะขั้นตอนของการดูแลระบบไม่ว่าจะยางหรือข้าวแตกต่างกัน จำนวนรายได้ของครัวเรือน หรือระยะเวลาการเก็บเกี่ยวในพืชแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน

“เราพยายามอธิบายเหตุผลข้อมูลมากกว่าความรู้สึกไม่อยากให้เป็นเรื่องพยายามแบ่งแยกความรู้สึกว่าภาคนั้นภาคนี้ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งถึงแม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากภาคใดมากหรือน้อยก็ตามไม่เป็นเงื่อนไขการช่วยเหลือ เพราะการช่วยเหลือต้องอยู่บนฐานความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน มาตรการที่ออกมาอาจจะยังไม่พอใจชาวสวนยางอยู่บ้าง แต่ว่าหากมีการพูดคุยกันมีการรับฟังข้อคิดมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกหรือการเมืองก็คิดว่าจะแก้ไขได้ และการชุมนุมใหญ่วันที่ 3 กันยายนนี้ไม่อยากมองว่ามีเบื้องหลัง แต่มองว่าเป็นความเรียกร้องของเกษตรกรจริงๆ ” นายวราเทพ กล่าว 

วันเดียวกัน นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผวจ.สุราษฎร์ธานี เชิญนายอำเภอ , สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้นำท้องถิ่น ในพื้นที่ปลูกยางพารามาก ประมาณ 50 คน เช่น อ.บ้านตาขุน , พนม , เคียนซา ,   ไชยา , ท่าชนะและ อ.กาญจนดิษฐ์  เป็นต้น มาร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัด โดยเชิญนายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ อดีตรอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาร่วมรับฟังด้วย

นายสถาพร กล่อมเจริญ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ส.อบจ.)เขต อ.บ้านตาขุน กล่าวว่า การที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากไม่เคยทราบว่าราคายางในตลาดโลกที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะรัฐบาลมักอ้างอิงราคาตลาดโลกและเศรษฐกิจโลกตกต่ำมาตลอด แต่ไม่เคยบอกว่าราคามีเท่าไหร่และไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะจริงใจให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา

นายภิญโญ นุรักษ์ สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ต.ช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ กล่าวว่า ยืนยันเกษตรชาวสวนยางจะอยู่ได้ที่ราคายางกิโลกรัมละ 85-90 บาท หากราคาต่ำกว่านี้ชาวสวนยางจะเดือดร้อนมาก เพราะราคาสินค้าขึ้นไปมาก

นายวุฒิ สิทธิสุราษฎร์ อดีต รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ราคายางในตลาดโลกสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซด์อินเตอร์เน็ตต่างๆ จะแสดงราคารับซื้อขายทั้งในตลาดญี่ปุ่นและประเทศต่างๆได้ตลอดเวลาซึ่งไม่มีใครบิดเบือนได้ และสภาพราคายางพาราในปัจจุบันหากเกษตรที่มีพื้นที่ปลูกยางไม่ต่ำกว่า 25 ไร่จะอยู่ได้ไม่เดือดร้อน แต่เป็นห่วงชาวสวนรายเล็กๆที่อาจลำบากบ้าง

นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้เชิญคนในพื้นที่มาหารือเพื่อต้องการรับฟังข้อมูลความคิดเห็นปัญหาความต้องการของเกษตรกรชาวสวนยางก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 กันยายน เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลปัญหาทั้งหมดส่งไปยังรัฐบาลได้รับทราบและมีมาตรการความช่วยเหลือได้รวดเร็วและไม่ต้องชุมนุมยืดเยื้อนาน

“การชุมนุมใหญ่ทางจังหวัดไม่ได้ปิดกั้นและพยายามอำนวยความสะดวกในเรื่องการรักษาความปลอดภัย การจราจรและทั้งห้องสุขาให้พร้อม” นายฉัตรป้อง กล่าว

นอกจากนี้มีรายงานว่า ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ นายคำรณ เทือกสุบรรณ นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกหนังสือจะนัดแถลงข่าวพร้อมคณะกรรมการ ถึงการกำหนดท่าทีในการชุมนุมใหญ่ของเกษตรกรชาวสวนยางในวันที่ 3 กันยายนนี้ด้วย