posttoday

สนข.รับฟังความเห็นโครงการระบบขนส่งมวลชนปทุมฯ

14 สิงหาคม 2556

สนข. สรุปขนส่งมวลชนระบบรองและเสริม 6 สาย เชื่อมโครงข่ายขนส่งมวลชน จ.ปทุมธานี ตั้งเป้าเปิดให้บริการพร้อมรถไฟชานเมืองสายสีแดง

สนข. สรุปขนส่งมวลชนระบบรองและเสริม 6 สาย เชื่อมโครงข่ายขนส่งมวลชน จ.ปทุมธานี ตั้งเป้าเปิดให้บริการพร้อมรถไฟชานเมืองสายสีแดง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานการสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 งานศึกษาการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารจากระบบขนส่งมวลชน ระยะที่ 1 เขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้สนใจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้แทนทางศาสนา และประชาชน ร่วมงานกว่า 200 คน

การสัมมนาในครั้งนี้ ได้นำเสนอผลสรุปการศึกษาในทุกด้าน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนหลัก 2 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ – คูคต โดยนำเสนอแนวเส้นทาง ระบบขนส่งมวลชนรองและระบบขนส่งมวลชนเสริมที่มีเหมาะสมเชื่อมต่อกัน ประกอบด้วย ระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ใช้รูปแบบของรถประจำทางด่วนพิเศษ หรือ BRT ที่วิ่งยกระดับแยกจากการจราจรทั่วไป และวิ่งระดับพื้นโดยมีช่องจราจรเฉพาะ และวิ่งร่วมกับการจราจรทั่วไป เนื่องจากสามารถก่อสร้างได้เร็ว งบประมาณในการก่อสร้างต่ำ และรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 4,000 – 8,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

โดยเปิดบริการใน 3 สายทาง ได้แก่ สายทางที่ 1 สถานี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต – หออัครศิลปิน เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปตาม ถ.คลองหลวงผ่านวัดพระธรรมกาย สิ้นสุดที่บริเวณหออัครศิลปิน ถ.คลองห้า ระยะทางประมาณ 13.63 ก.ม. กำหนดเปิดบริการในปี พ.ศ.2562 สายที่ 2 สถานีรังสิต – เมืองปทุมธานี เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต ไปตาม ถ.รังสิต-ปทุมธานี จนถึงศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ระยะทางประมาณ 12.05 ก.ม. และสายที่ 3 สถานีรังสิต – ธัญบุรี เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต วิ่งไปตาม ถ.รังสิต-นครนายก ผ่านฟิวเจอร์ปาร์ค ดรีมเวิลด์ สิ้นสุดที่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ระยะทางประมาณ 16.22 ก.ม. โดยในส่วนของสายที่ 2 และ 3 นั้น เป็นโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อกันจึงใช้การพัฒนาร่วมกัน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เมืองปทุมธานี – คลอง 1  เปิดบริการในปี พ.ศ. 2561 และระยะที่ 2 คลอง 1 – ธัญบุรี เปิดบริการในปี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนรองทั้ง 3 สายทางไว้ที่ 10 บาทตลอดสาย

ส่วน ระบบขนส่งมวลชนเสริม ใช้รูปแบบรถ Shuttle Bus หรือรถตู้ เปิดให้บริการใน 3 สายทาง ได้แก่  สายที่ 1      ถ.คลองหลวง- ถ.รังสิต-นครนายก เริ่มจาก ถ.คลองหลวง บริเวณหน้าวัดพระธรรมกาย เข้าสู่ ถ.คลองสอง ถ.รังสิต-นครนายก ถ.คลองสาม และกลับสู่ ถ.คลองหลวง สายที่ 2 ถ.ลำลูกกา–ถ.รังสิต-นครนายก เริ่มจาก ถ.รังสิต-นครนายก ช่วงระหว่างคลองสองกับคลองสาม เข้าสู่ ถ.ฟ้าคราม ถ.ลำลูกกา ถ.ชลมาร์คพิจารณ์ แล้วกลับสู่ ถ.รังสิต-นครนายก และสายที่ 3 สถานีคูคต – วงแหวนรอบนอก เชื่อมต่อจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีคูคตไปตาม ถ.ลำลูกกา เลยจุดตัด ถ.วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก สิ้นสุดที่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซีลำลูกกา พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดที่ตั้งอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) สำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) ไว้ที่บริเวณสถานีรังสิต และรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่บริเวณสถานี กม.25 และลำลูกกาในอนาคต เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางอย่างสูงสุดอีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ดำเนินการแล้วเสร็จ จะส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเมืองปริมณฑลที่สำคัญของกรุงเทพ ฯ และมีอัตราการขยายตัวของเมืองสูงหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดการก่อมลพิษ และนำไปสู่การแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นต้นแบบให้จังหวัดต่างๆ ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานครได้นำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย